วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กวางสี ...3,000 ลี้ใน รอยจำ

โดย...ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง

น้ำร้อนๆ รินรดใบชากุ้ยฮัวที่นอนในถ้วย ปลุกให้ “ของฝาก” จากเมืองกุ้ยหลิน ส่งกลิ่นหอมละมุน หอบเอาบรรยากาศ ผู้คน ความทรงจำ 3,000 ลี้ที่กวางสี กลับมากระจ่างชัดขึ้นกลางใจ
 ............
  โลกเหมือนจะหมุนช้าลง เมื่อเรามาถึงที่กุ้ยหลิน หลายคนขึ้นไปยืนรับลม สูดอากาศบนดาดฟ้าเรือนำเที่ยวลำใหญ่ ที่พาเราล่องอยู่ในแม่น้ำหลีเจียง
  ส่วนฉัน ขอซุกตัวอยู่ในห้องโดยสาร นั่งสูดวิวจากริมหน้าต่าง จิบชาอุ่นๆ ที่เติมฟรีไม่อั้นตลอดการเดินทาง
  เรากำลังมุ่งหน้าสู่เมืองหยางซั่ว เมืองเล็กๆ น่ารักน่าเที่ยว ริมแม่น้ำหลีเจียง ห่างออกไปทางตอนใต้ของกุ้ยหลิน

  เรือแล่นผ่านขุนเขาน้อยใหญ่ สารพัดรูปร่าง แว่วเสียงไกด์อาตี๋ “มาวิน” ของเรา คอยทำหน้าที่
 โน่น..เขาแอปเปิล นั่น..ผาม้า 9 ตัว  นี่..ถ้ำมงกุฎ เขาหอยทาก และอีกมากมาย สารพัดฉายาจะเรียก ให้นักท่องเที่ยวได้ลองใช้จินตนาการ ตามคำบอกเล่า

 กุ้ยหลิน เป็นเมืองแห่งภูเขาหินน้อยใหญ่ มากกว่า 27,000 ยอด เมื่อผ่านการกัดกร่อนของธรรมชาติและกาลเวลา จึงเกิดเป็นภูเขารูปร่างแปลกตา และถ้ำต่างๆ อีกมากมาย
 ชื่อเสียงความงดงามของเมืองแห่งขุนเขาบนสายน้ำหลีเจียงแห่งนี้ เป็นที่เลื่องลือทั่วทั้งแผ่นดินจีนมาตั้งแต่โบราณ  แม้แต่ ฮั่นหยู (Hanyu) ปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ยังเคยกล่าวกวีไว้บทหนึ่งถึงกุ้ยหลิน เอาไว้ว่า “แม่น้ำนี้งดงามราวสายเข็มขัดไหมสีมรกต ส่วนภูผานั่นเล่าเป็นดั่งจุฑามณีสีหยก”
  งดงามถึงขนาดที่รัฐบาลจีนยังนำภาพทิวทัศน์กุ้ยหลิน มาพิมพ์ไว้บนธนบัตร 20 หยวน
  ทุกๆ เช้า เรือนำเที่ยวลำใหญ่ขนาดสองชั้น จุคนได้นับร้อย พร้อมห้องครัวท้ายเรือ จะแล่นออกจากท่าเรือจู๋เจียง ลำแล้วลำเล่า แล่นต่อกันเป็นขบวนในลำน้ำที่ใสแจ๋ว
 การเดินทางแบบสโลว์โมชั่น บนเส้นทางล่องเรือ ระยะทาง 83 กิโลเมตร ที่ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงบนเรือนั้น ยาวนานพอที่จะนั่งๆ นอนๆ เดินเล่น วิ่งขึ้นวิ่งลงไปถ่ายรูป ก่อนจะต่อแถวกินข้าวกลางวันกันบนเรือ แล้วยังอาจจะหลับต่อได้อีกสักงีบ
  เมื่อเรือแล่นผ่านจุดชมวิวแถวๆ เมืองซิงผิง แบงก์ 20 หยวนก็ถูกควักออกมาเป็น “พระเอกหน้ากล้อง” ให้เราได้ช่วยกันถือ ผลัดกันถ่ายรูป เทียบเคียงวิวภาพวาดในแบงก์กับภาพธรรมชาติของจริงให้เห็นกับตาว่า เหมือนกันขนาดไหน..
  แต่ที่กวาดตามองหาเท่าไหร่ก็ไม่พบเจอในสายน้ำวันนั้น คือวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวประมงที่ยังชีพด้วยการจับปลาด้วยนกกาน้ำบนแพไม้ไผ่  ไม่รู้เพราะเรามาถึงคนละช่วงเวลากับที่เขาออกหาปลา หรือเพราะวิถีชีวิตเหล่านั้นได้เลือนหายไปจนเหลือเพียงแค่ “โชว์” เพื่อการท่องเที่ยว
  นึกๆ แล้ว ยังทึ่งกับลีลายังชีพของพ่อค้าท้องถิ่น ที่ถ่อแพไม้ไผ่ บรรทุกสินค้าหยก (เทียม) มาเทียบลำเรือท่องเที่ยวที่กำลังแล่นในสายน้ำ คอยตะโกนขายของเรียกลูกค้า อย่างคล่องแคล่ว   
 ขึ้นฝั่งมาแล้ว เราถึงค่อยได้พบอาแปะชาวประมง 2-3 คน ใช้เชือกผูกคอนกกาน้ำคู่กาย ยืนรอท่าให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายรูป  แต่ถึงอย่างนั้น ความงดงามของแกลอรีธรรมชาติ เงาสะท้อนขุนเขาบนสายน้ำ ก็ยังเป็นเสน่ห์ที่ยังอยู่คู่กุ้ยหลิน  เช่นเดียวกับบรรยากาศหมู่บ้านชนบท บ้านเรือนเก่าๆ แบบดั้งเดิม พื้นที่การเกษตร และความเป็นอยู่ของผู้คนกับสายน้ำ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่
มนต์เพลง “หลิวซานเจี่ย”
   เริ่มจะชินกับชีวิตเอื่อยๆ ...ไม่ทันไรบ่ายกว่าๆ เราก็มาถึง หยางซั่ว เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำ บรรยากาศน่ารักน่าอยู่ เห็นแล้วอยากมีเวลามากกว่านี้ จะลองเช่าจักรยาน ขี่กินลมชมวิว เที่ยวเล่นชมวิถีชีวิต ผู้คน ตลาด ถ้าใครมีเรี่ยวแรงหน่อย ขี่ไกลออกไปอีกนิด รอบนอกเมือง สองข้างทางจะพบกับสวนลูกพลับ ไร่สตรอว์เบอร์รี สวนส้มจีน ที่ช่วงนั้นกำลังออกลูกจิ๋วๆ สีทองสุกอร่ามเต็มต้น
  ไม่ไกลนักจากหยางซั่ว มีที่เที่ยวอีกหลายแห่ง ทั้งหมู่บ้านลับแล ถ้ำเงิน ถ้ำมงกุฎ ฯลฯ แต่ทริปนี้ ไกด์พาเราขึ้นรถด้วยความว่องไว เพราะต้องแข่งกับเวลา ก่อนตะวันจะชิงพลบ เพื่อมาชมถ้ำแห่งใหม่ ที่เพิ่งค้นพบไม่นาน
   เมื่อมาถึง ถ้ำดอกบัว ที่ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้าน ในอ้อมกอดขุนเขาของอำเภอซิงผิง บรรยากาศแสงสีภายในถ้ำ ชวนให้นึกไปว่า กำลังหลุดมุดเข้ามาอยู่ในฉากหนังจีนกำลังภายในสักเรื่อง ก่อนจะพบกับหินที่กลายร่างเป็นรูปดอกบัวบานสะพรั่ง เรียงรายอยู่บนธารน้ำในโพรงถ้ำมากถึง 108 ดอก ชวนให้ตื่นตาตื่นใจ คุ้มค่ากับการนั่งรถมาถึง
  การเที่ยวถ้ำ..ถ้ำ..และถ้ำ ดูจะเป็นกิจกรรม “ไฟลต์บังคับ” อย่างหนึ่ง ที่อยู่ในแพ็คเกจทัวร์เที่ยวกุ้ยหลิน ถ้าไม่ได้เดินมุดถ้ำ เหมือนยังไม่ได้ตราประทับผ่านเข้าเมือง อย่างน้อยๆ หนึ่งในถ้ำที่ทัวร์ต้องพาไป ต้องมี ถ้ำขลุ่ยอ้อ ทางตอนเหนือชานเมืองกุ้ยหลิน ในถ้ำมีทั้งหินงอกหินย้อยวิจิตรตระการตา  โดยเฉพาะ “วังแก้วแห่งราชามังกร” ที่ดูคล้ายจำลองเมืองกุ้ยหลินมาไว้ทั้งเมือง
   หลังตะวันตกดิน คืนนั้น เรายังคงอยู่ที่หยางซั่ว ท่ามกลางความมืดมิด เรากำลังนั่งอออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ พร้อมผู้ชมนับพันท่ามกลางโรงมหรสพกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
   ก่อนที่โชว์แสงสีเสียงอลังการด้วยนักแสดงหลายร้อยชีวิตจะเริ่มขึ้น ส่องสว่างให้เห็นผืนน้ำกว้างใหญ่และขุนเขาตามธรรมชาติตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง ในโชว์ชุดที่ใช้ชื่อ The Impression of Liu Sanjie หรือ ตำนานเพลงพื้นบ้านของสาวชนเผ่าชาวจ้วง “หลิวซานเจี่ย” สร้างสรรค์และกำกับโดย จางอี้โหมว ผู้กำกับคนดัง
  จบจากโชว์คืนนั้น มีนัดออกไปย่ำราตรีกันที่ “ถนนฝรั่ง” ในหยางซั่ว สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านรวง ให้เดินช็อปปิ้งของที่ระลึกกันตามอัธยาศัย เคล้าเสียงอึกทึกจอแจ แว่วท่วงทำนองเพลงของหลิวซานเจี่ยที่ตามมาให้ได้ยินก้องในหู แถมด้วยตุ๊กตาสาวชนเผ่าและตุ๊กตาหลิวซานเจี่ยที่วางเรียงรายขายอยู่ริมทาง
  ตั้งแต่นั้น ทุกหนทุกแห่งที่เราไปถึง ราวกับเสียงเพลงมนต์รักชาวเรือจะกลายเป็น “เพลงสามัญประจำบ้าน” ของชนเผ่าชาวจ้วง ที่การร้องเพลงและเสียงดนตรี แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่
หลายเมือง..หลากวิถี ในกวางสี
 ถ้าไม่ใช่นักเดินทางที่รักอิสระ ชอบการผจญภัย หรือพูดภาษาจีนได้แล้ว ดูจะเป็นเรื่องขลุกขลักพอดู กับการ “ลุยเดี่ยวเที่ยวครั้งแรก” ที่ต้องติดต่อสื่อสารกับชาวท้องถิ่น หลายคนที่มาเที่ยวกุ้ยหลิน จึงนิยมซื้อทัวร์มาเที่ยว เพื่อความสะดวก ซึ่งมักเป็นโปรแกรมเที่ยวแบบ 4 วัน 3 คืน หรือ 5  วัน 4 คืน
   แต่ทริปเดินทางครั้งนี้ของเรา พิเศษกว่า “ทัวร์” อื่นๆ สักหน่อย เพราะเป็นทัวร์ 8 วัน ที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ร่วมกับการท่องเที่ยวมณฑลกวางสี และเมอร์รี่แลนด์ แทรเวิล แอนด์ เซอร์วิส พาเราเหินฟ้าตะลุย 3,000 ลี้ สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวในมณฑลกวางสี
  ตั้งชื่อให้เองว่า ทริป 3,000 ลี้ เพราะได้ยินใครบางคนในทริป คำนวณว่า ตลอด 8 วันที่ใช้ชีวิตตะลอนทัวร์ร่วมกันอยู่ในกวางสี ถ้าคิดเป็นระยะทางรถวิ่ง ก็คงไม่ต่ำกว่าราวๆ 3,000 ลี้ หรือ 1,500 กิโลเมตร
  ถ้ามองจากแผนที่เมืองจีนที่ดูคล้ายรูปแม่ไก่ตัวใหญ่ ตอนนี้เราน่าจะกำลังไต่ระดับลงมาอยู่แถวๆ ใต้พุงของ “แม่ไก่” กันแล้ว
  กวางสี เป็นหนึ่งในเขตปกครองตนเอง ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน  เป็นเขตชนกลุ่มน้อยชนเผ่าชาวจ้วง เป็นเมืองชายแดนที่มีพรมแดนด้านหนึ่งอยู่ติดกับตอนเหนือของเวียดนาม
  ออกจากกุ้ยหลิน นั่งเรือต่อรถลัดเลาะเที่ยวลงมาเรื่อยๆ จากหยางซั่วมาที่เมืองหลิ่วโจว และต่อมาที่เมืองหนานหนิง จบปลายทางใต้สุดที่น้ำตกเต๋อเทียน บนพรมแดนจีน-เวียดนาม ที่จุด 53
    ตอนนี้ เรามาถึง “หลิ่วโจว” เมืองใหญ่อันดับ 2 ของมณฑลกวางสี  คนจีนมีคำกล่าวกันว่า “เกิดที่ซูโจว เที่ยวที่หังโจว กินที่กวางเจา และตายที่หลิ่วโจว” นั่นเพราะหลิ่วโจว เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อแต่โบราณว่า มีไม้คุณภาพดีเหมาะนำมาทำโลงศพ
  ทุกวันนี้หลิ่วโจวถูกรัฐบาลมณฑลกวางสี วางตำแหน่งให้เป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ยังมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ คอยเป็นปอดฟอกอากาศ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ที่ไม่คิดว่าจะมีอยู่ในเมืองอุตสาหกรรม ที่มีมีชีวิตชีวามากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะสีสันยามราตรีที่รัฐบาลจีนทุ่มทุนสร้างเสกน้ำตกเทียมขนาดใหญ่ยักษ์ให้ทำเงินทุกคืนอยู่ริมแม่น้ำ ดูดเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวที่มาล่องเรือ ชมน้ำตก และสะพานที่ประดับประดาแสงไฟในยามค่ำคืน
  แต่ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่อลังการเท่ากับภาพที่จะได้เห็นกันในอนาคต ไกด์มาวินบอกกับเราว่า รัฐบาลจีนกำลังวางนโยบายจะพัฒนาหลิ่วโจวให้ยิ่งใหญ่ผงาดเป็น “นครเซี่ยงไฮ้” ของมณฑลกวางสี ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
  ก่อนจะไปต่อให้ถึงปลายทางใต้สุดของการเดินทางที่น้ำตกเต๋อเทียนบนพรมแดนจีน-เวียดนามที่จุด 53  เราแวะเข้ามาเที่ยวที่หนานหนิง เมืองหลวงของมณฑลกวางสี กันก่อนหนึ่งวัน ที่นี่นอกจากจะมีมหาวิทยาลัยกวางสี ที่เปิดสอนภาษาไทยให้กับนักศึกษาจีนแล้ว ยังมี สวนมิตรภาพไทย - จีน หนานหนิง- ขอนแก่น สร้างไว้เป็นอนุสรณ์ความสัมพันธ์บนเขาชิงซิ่ว
  ยามค่ำคืนแถวๆ ถนนเฉาหยาง ยังเป็นถนนสายช็อปปิ้งที่มีห้างสรรพสินค้ามากมายเรียงราย หนุ่มสาวมาเดินเลือกซื้อข้าวของแฟชั่นเสื้อผ้า ทั้งแบรนด์แนมและแบกะดิน กันขวักไขว่
  จากแสงสีในเมืองหลวง วันรุ่งขึ้นรถบัสคันใหญ่พาเราลัดเลาะเลื้อยไปตามทางเขาที่มองเห็นภูเขาลดหลั่นกันสลับกับวิวทุ่งหญ้าและพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะไร่อ้อย ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เราก็โผล่ข้ามเขามาอยู่ที่เมืองชายแดนจีน-เวียดนามที่ชื่อ จิ้งซี หลังจากกินข้าวมื้อเที่ยง เราเริ่มเดินเท้าไต่ลงบันไดเขา ตะลุย ทงหลิง แกรนด์ แคนยอน ที่มีระยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร
  บนเส้นทางที่พาเราค่อยๆ เดินดิ่งลึกลงไปในโตรกผาที่มีความลึกประมาณ 300 เมตร ผ่านทั้งทางเดินเลียบธารน้ำ ลัดเลาะเข้าไปในถ้ำเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้เขา และข้ามฝ่าม่านน้ำตก กว่าจะโผล่พ้นออกจากโตรกทงหลิงอีกทีก็เย็นย่ำ คืนนั้นเราแวะค้างคืนกลางทางก่อนไปต่อน้ำตกเต๋อเทียนกันที่หมู่บ้านชนบทในอ้อมกอดหุบเขาและทุ่งนา ที่ชื่อ หมิงซื่อ
  ไม่น่าเชื่อว่า กลางทุ่งนา หุบเขาอย่างนี้ จะมีบูทีครีสอร์ทเก๋ๆ ตกแต่งด้วยบรรยากาศสไตล์ศิลปะชนเผ่าชาวจ้วง เพิ่งเปิดใหม่เอี่ยมอ่องคอยเราอยู่
  เช้าวันใหม่ วิวทิวทัศน์เงียบสงบแบบบรรยากาศบ้านนาในชนบทที่หมิงซื่อ ทำให้เราได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่ายในหมู่บ้าน ยังมีกิจกรรมให้ได้ล่องแพสั้นๆ ชมธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวบ้าน บ้างก็กำลังทอดแหจับปลา บางคนพายเรือขายผลไม้ ส้มโอ มะละกอ ราคาย่อมเยาลูกละแค่ 1 หยวน แต่รสชาติหวานฉ่ำอย่าบอกใคร
  นั่งรถต่ออีกชั่วโมงเดียว ในที่สุดเราก็มาถึงน้ำตกเต๋อเทียน น้ำตกระหว่างพรมแดนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย คั่นแบ่งระหว่างจีนกับเวียดนาม
  จากมุมสูง เราเริ่มขยับลงไปสัมผัสความงามของน้ำตกกันใกล้ๆ บนแพไม้ไผ่ ที่มีไว้บริการล่องเข้าไปให้ได้ชมน้ำตกกันใกล้ๆ พอได้รู้สึกถึงละอองน้ำที่ไหลจากผาสูง กระทบผืนน้ำที่อยู่เบื้องล่าง
  แล้วทริป 3,000 ลี้ในกวางสีก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว มารู้ตัวอีกทีเรากำลังเดินทางย้อนศร กลับมาถึงที่กุ้ยหลินอีกครั้ง คราวนี้ไกด์มาวินพาเราตะลุยทัวร์เที่ยวในเมืองกุ้ยหลิน  ครบทั้ง เขางวงช้าง ที่แลเห็นภูเขาหินรูปช้างกำลังโน้มงวงกินน้ำอยู่ในแม่น้ำหลีเจียง เขาฝูโบว ที่เรียกกันว่าเป็น “เขาสลายคลื่น” ซึ่งมีทั้งถ้ำคืนไข่มุกที่เคยเชื่อกันว่าในอดีตเคยมีมังกรอาศัยอยู่
  ก่อนจะเปลี่ยนบรรยากาศยามค่ำคืนมาล่องเรือชมทิวทัศน์บนเส้นทาง 4 ทะเลสาบ 2 แม่น้ำ ใจกลางเมืองกุ้ยหลิน ที่เรือจะเลาะลอดใต้สะพานที่สวยงาม หลากหลายรูปแบบสถาปัตยกรรมทั้งแบบโบราณและร่วมสมัย พร้อมแสงสีไฟประดับประดา เจดีย์เงิน เจดีย์ทอง ที่สว่างไสวยามค่ำคืน
  เช้าวันสุดท้ายก่อนกลับ เราขึ้นมานั่งกระเช้าลอยฟ้าบนเขาเหยาซาน สูดอากาศและทิวทัศน์ธรรมชาติของเมืองกุ้ยหลินจากมุมสูง มองเห็นขุนเขานับร้อยลูกที่รวมกันเป็นหนึ่งจนแยกไม่ออกว่า “เมืองอยู่ในเขา” หรือ “ภูเขาอยู่ในเมือง”
  แต่ที่รู้แน่ๆ คือการเดินทางไกล 3,000 ลี้ ที่กวางสี ทำให้ 8 วันในชีวิตได้ชาร์จแบตเตอรี่ความสุขเพิ่มขึ้นมาอีกหลายขีด เรียกรอยยิ้มได้ทุกทีที่นึกถึง ...

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก