วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เปิดอาณาจักร นวธานี ..ดร.สุขุม นวพันธ์

 โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
ชีวิตสุขภาพดีทั้งกายใจในวัย 84 ปี เผยปรัชญาชีวิตเรียบง่าย ความสุขอยู่ที่การให้ หาใช่เงินทอง มูลนิธิสุขุโมบริจาคแล้วกว่า 400 ล้านบาท!!
สักกี่คนที่อายุ 84 ปีแล้วจะสดชื่น เบิกบานทั้งกายใจ อย่างที่ ดร.สุขุม นวพันธ์ ดำเนินชีวิตของเขาทุกโมงยาม ณ ตอนนี้
ไม่เพียงแต่ความสุขในบ้านหลังใหญ่ ติดสนามกอล์ฟในอาณาจักร “นวธานี” ที่เพียงลอดข้ามกำแพงต้นไม้ ผ่านซุ้มดอกสร้อยอินทนิลริมรั้ว ก็จะพบกับสนามหญ้าสีเขียวชะอุ่ม รอให้เจ้าของมาออกรอบตีกอล์ฟ 

แต่ทุกๆ เช้า เขายังตื่นขึ้นมา ด้วยความรู้สึกปีติสุขในใจ ทุกครั้งที่นึกว่า แต่ละวันจะมีผู้คนกว่า 2 ล้านคนกำลังสนุกสนานจากโต๊ะปิงปองซีเมนต์มากกว่า 4 หมื่นตัวที่ “มูลนิธิสุขุโม” คิดค้นพัฒนา บริจาคไปยังท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดที่ห่างไกล ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา 
ในวันที่สีชมพูของดอกตาเบบูญ่า บานสะพรั่งทั่วนวธานี ดร.สุขุม นวพันธ์ เปิดอาณาจักร "ส่วนตัว" เล่าถึงการบริหารชีวิตให้รื่นรมย์ในวัย 84 ปี ในวันที่ความสุขของเขาอยู่ที่ "การให้" อย่างแท้จริง 
"ในกรุงเทพฯ คุณคิดว่ามีกี่จุดที่มองออกไป 180 องศา ไม่เห็นหลังคาบ้านเลย" เจ้าของบ้าน เริ่มต้นชวนคุยอย่างอารมณ์ดี 
มองจากระเบียงดาดฟ้าชั้นบน ไกลสุดสายตา จะเห็นวิวพาโนรามาที่เขียวชะอุ่มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า ในอ้อมกอดต้นตาเบบูญ่าที่กำลังสะบัดกลีบดอกสีชมพูเต็มต้น    
"ถ้าอยู่ในที่อากาศดีๆ แบบนี้ แล้วอายุยืนขึ้นอีกหนึ่งปี ตีราคาเป็นเท่าไหร่ ปีนี้ผมอายุ 84 ปี มีแค่เรื่องความดัน นอกนั้นก็ไม่มีอะไร"  
นอกจากสุขภาพที่ยังแข็งแรง ออกรอบตีกอล์ฟอย่างคล่องแคล่ว ประธานกรรมการมูลนิธิวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในวัย 84 ปี ยังนั่งเป็นทั้งกรรมการ และที่ปรึกษา ให้กับองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกนับ 20 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรสาธารณกุศล 
ฟังเท่าที่เขาเกริ่นถึงปฏิทินการเดินทางปีนี้ แค่ถึงช่วงกลางปี มีคิวต้องบินไปประชุมที่ไหนบ้าง มีทั้งสหรัฐอเมริกา อิตาลี สเปน อังกฤษ ในหลายบทบาท อาทิ กรรมการใน The Salk Institute แห่งสหรัฐอเมริกา,  Honorary Regent  ของวิทยาลัยแฮริส แมนเชสเตอร์ แห่งอ็อกซ์ฟอร์ด และอื่นๆ อีกมากมาย    
ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ดร.สุขุม ในวัยหลังเกษียณ วันนี้ ยังแข็งแรงและไฟแรงขนาดไหน !  
"ทุกวันนี้ ผมออกรอบตีกอล์ฟอาทิตย์ละ 4 หน" ดร.สุขุม เล่าถึงกิจวัตรโปรด ความชื่นชอบในกีฬากอล์ฟ และอยากให้เมืองไทยมีสนามกอล์ฟมาตรฐานระดับโลก ทำให้ นวธานี เป็นสนามกอล์ฟเอกชนเต็มรูปแบบรุ่นแรกๆ ของเมืองไทย ที่เขาเป็นผู้บุกเบิกเปิดมาตั้งแต่ปี 2516 บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่  
ที่นี่ ยังถือเป็นโครงการแรกๆ ของเมืองไทยที่มีการจัดสรรที่ดินบริเวณรอบสนามกอล์ฟ จนกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยของบุคคลมีระดับมากมายในแวดวงสังคม         
ทั้ง ดร.สุขุม และภรรยา (เมธ์วดี นวพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด) ต่างชอบเล่นกอล์ฟเหมือนกันทั้งคู่ ฝ่ายชายเล่าถึง "คุณเม" ที่วันนั้นออกไปประชุมที่บริษัท ว่า "คนนั้นเล่นกอล์ฟ จนได้เป็นนายกสมาคมกอล์ฟหญิง 3 เทอม 6 ปี"
ภายในบ้านนวพันธ์ ยังมีผลงานศิลปะประดับประดาเรียงรายเต็มแทบทุกผนังห้อง โดยเฉพาะผลงานศิลปินเอกของบ้าน ที่ชื่อ "เมธ์วดี" ที่จับพู่กันรังสรรค์ทั้งภาพบุคคล และวิวทิวทัศน์ รวมไปถึงโชว์ฝีมือเพนท์สีผนังลิฟท์ในบ้าน เป็นลวดลายดอกตาเบบูญ่า หรือชมพูพันธุ์ทิพ ที่ทั้งคู่ชื่นชอบ จนนำมาปลูกไว้ทั่วทั้งนวธานี
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี ต้นตาเบบูญ่าที่นี่ จะแข่งกันออกดอกสีชมพูชูช่อ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขเล็กๆ เบ่งบานกลางใจคนรักต้นไม้ 
"นี่..มุมนี้ สวยไหม ดูแล้วเหมือนภาพเขียน" เจ้าของสนามกอล์ฟนวธานี ชี้ให้ดูสนามสีเขียว ที่ตัดกับท้องฟ้า และสีชมพูของดอกไม้ที่จะบานปีละครั้ง 
"ถนนของเราไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่โรยด้วยกลีบสีชมพูอย่างนี้ ดูสิ กำลังร่วงลงมาอย่างนี้ โรแมนติกดีไหม สดใสจริงๆ.." ว่าพลาง ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ มองดูตาเบบูญ่าดอกน้อย ลอยละลิ่วไปตามสายลม
เจ้าของสวนสวยแห่งนี้ ยังร่ำรวย "ความสุข" อยู่ในหัวใจ ...เป็นความสุขที่หาใช่เพียงทรัพย์สินเงินทอง หากสุขด้วยปรัชญาชีวิต ที่ว่า "ความสุขนั้นอยู่ที่การให้" 
"ทุกปี ผมใช้เงินสำหรับตัวเอง น้อยกว่าที่ผมบริจาคให้กับสังคม...คนเรานี่แปลกนะ ถ้าเราบริจาคให้กับสังคม ความเห็นแก่ตัวจะน้อยลงไปเยอะ"  ดร.สุขุม เล่าว่า ชีวิตของเขาวันนี้ ไม่มีทั้งห่วง และความกังวลใจใดๆ แม้ในภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างนี้ กลุ่มคนมีเงินที่เป็นเจ้าของหุ้น มูลค่าความมั่งคั่งอาจหดหายลงไปเยอะ 
"ปีนี้ ถึงเรื่องการเงินการลงทุนจะเสียหายเยอะ แต่การบริจาคสาธารณะของผม ยังเท่าเดิมไม่ลดลง" ประธานกรรมการมูลนิธิสุขุโม ยืนยันถึงการจัดสรรงบบริจาค ที่ไม่ผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจ 
ภายในห้องรับแขกในบ้านนวพันธ์ มีหนังสือนิตยสารหลายเล่มที่ ดร.สุขุม นวพันธ์ เคยให้สัมภาษณ์ วางเรียงอยู่บนโต๊ะ บนนั้นมีอยู่ฉบับหนึ่ง ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ขึ้นปกไว้ตั้งแต่ปี 2528 พูดถึงเรื่องแนวคิดการให้คืนกลับสังคม แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานกว่า  2 ทศวรรษแล้ว แต่เจตนารมณ์นั้นยังคงสานต่อจนถึงทุกวันนี้
  • บริจาคแล้ว...มากกว่า 400 ล้านบาท 
เอ่ยถึงชื่อมูลนิธิสุขุโม (เดิม มูลนิธิสุขุม นวพันธ์) หลายคนมักนึกถึงคู่มือดิกชันนารีอังกฤษ-ไทย ที่พิมพ์แจกมอบให้สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2544 และยังคงพิมพ์แจกจ่ายอย่างต่อเนื่อง 
"ทั้งหมด พิมพ์แจกแล้ว 8.8 แสนกว่าฉบับ เวลายกมาตั้งต้องระวัง ถ้าหนักเกินไป ดินมันจะทรุด" เจ้าของบ้าน คุยให้ฟังถึงสต็อกดิกชันนารีกองโตจากโรงพิมพ์ ที่เห็นวางเรียงเป็นตั้งๆ อยู่ข้างบ้าน รอทยอยลำเลียงไปแจกจ่ายตามที่ต่างๆ 
เหตุผลที่พิมพ์ดิกชันนารีแจก เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และยังมีอายุใช้งานยาวนานหลายปี 
เช่นเดียวกับแนวคิดบริจาคที่ดิน และเงินทุน ก่อสร้างโรงเรียนบางกะปิสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ เพราะมองถึงสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับลูกหลานของกลุ่มชนชั้นกลาง ในย่านเขตบางกะปิ โดยปัจจุบัน โรงเรียนแห่งนี้รองรับเด็กนักเรียนถึง 3,000 คน  เร็วๆนี้ ดร.สุขุม จึงเตรียมบริจาคที่ดินเพิ่มเติมอีก 5 ไร่ รวมกับของเดิม เป็น 15 ไร่ รองรับการขยายโรงเรียนในอนาคต 
มูลนิธิสุขุโม (เดิม มูลนิธิสุขุม นวพันธ์) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2528 ถึงวันนี้ บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลทั้งโดยตรงและในเครือไปแล้ว มากกว่า 400 ล้านบาท
กิจกรรม "การให้" อย่างหนึ่ง ที่ดร.สุขุม ภูมิใจและมีความสุขมาก คือ โครงการบริจาคโต๊ะปิงปองซีเมนต์ ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น "นวัตกรรมชิ้นโบแดง" ในการวิจัยและพัฒนาโต๊ะปิงปองให้สามารถตั้งอยู่กลางแจ้ง ทนแดดทนฝน ด้วยฝีมือคนไทย 
"ถ้าใครไม่ได้มาจากบ้านนอก คงไม่รู้ว่าโต๊ะปิงปองตัวหนึ่ง เขาเล่นกันเกมเดียวกับลูกเดียว ตีลูกเดียวจบแล้วต่อแถวเล่นต่อ โต๊ะปิงปองหนึ่งตัวที่บ้านนอก วันหนึ่งๆจึงมีคนเล่นได้มากถึง 50-60 คน และยังเป็นกีฬาที่ทุกคนสามารถเล่นด้วยกันได้ ทุกเพศ ทุกวัย"
จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องเล่าประทับใจ เมื่อวันหนึ่งได้รับจดหมายจากนักโทษคนหนึ่งในเรือนจำ ว่า "ทุกวันนี้ พวกเรามีความสุขขึ้นเยอะ จากโต๊ะปิงปองของท่าน  ถ้าพ้นโทษเมื่อไหร่ ผมจะออกมาเยี่ยมคุณ อยากขอมาดูหน้าตาคนใจบุญว่าเป็นอย่างไร..."  เล่าถึงเรื่องนี้ทีไร เรียกเสียงหัวเราะชอบใจได้ทุกครั้ง
นอกจาก "ความสุขทางใจ" ที่เป็นผลบุญจาก "การให้" ยังมีเหตุการณ์ "โชคช่วย" สองครั้งสำคัญในชีวิต ที่เกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ครั้งหนึ่ง ดร.สุขุม รู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่ฝืนออกจากบ้าน เพราะเป็นงานศพของเพื่อนรัก "บัญชา ล่ำซำ" วันนั้น เดินออกมายังไม่พ้นจากวัด จู่ๆ ก็ล้มหงายตึง  
"ในโลกนี้ มีสักกี่คนที่ล้มตึงลงไป แล้วมีหมอระดับชาติมาถึงภายในไม่กี่วินาที แต่วันนั้น ผมโชคดีมีคุณหมอจินดา สุวรรณรักษ์ ช่วยไว้ได้ทัน ตอนมาถึงเขาจับชีพจร ยังเงยหน้ามองภรรยาผม ส่ายหัวว่าหัวใจหยุดเต้นแล้ว...ทุกวันนี้ เจอกันทีไร ผมมักบอกว่า หมอเป็นผู้ชายคนเดียวที่เคยจูบปากผมนะ" ดร.สุขุม เล่าหัวเราะติดตลก 
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เพิ่งว่ายน้ำเสร็จ ก็ไปเข้าห้องอบซาวน่าร้อนๆ เลยหน้ามืดสลบในห้องน้ำ แต่โชคดีที่วันนั้นคนดูแล วิ่งมารับเอาไว้ทันพอดี เพราะผิดสังเกตว่า เข้าห้องน้ำวันนั้น ทำไมไม่เปิดไฟ  
"เรื่องนี้ อาจจะถือว่า เพราะทำบุญเยอะ ถึงได้มีความบังเอิญอย่างนี้เกิดขึ้นก็เป็นได้ อันนี้จะเชื่อหรือเปล่า ผมไม่รู้นะ" ดร.สุขุม นวพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก