วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


โดย ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง 
      นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็น Night Museum เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมศกนี้ เป็นต้นไปหลังจากปิดล้อมบูรณะปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2551 พร้อมป้ายข้อความขนาดใหญ่ “เตรียมพบกับปรากฎการณ์ใหม่ ที่จะเปลี่ยนมุมมองของคุณ บนถนนประวัติศาสตร์สายนี้” 
     อาคารเก่าแก่สถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น อาคารแรกหัวถนนราชดำเนินกลาง กำลังเปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนในชื่อ 'นิทรรศน์รัตนโกสินทร์' ศูนย์การเรียนรู้และแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของยุครัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่ง  มีอะไรบ้างที่ทำให้เราภูมิใจในความเป็น‘ชาวรัตนโกสินทร์’ในยุคสมัยที่เรากำลังดำเนินอยู่...ยังไม่ต้องตอบตอนนี้ก็ได้ มีสถานที่แห่งใหม่ที่ไม่ใช่มหาวิหารสรรพสินค้า แต่อยใจกลางกรุง อยากแนะนำให้รู้จัก
  

  สมัยก่อนบริเวณชั้นบนอาคารนี้เคยเป็นสถาบันกวดวิชามาก่อน เมื่อหมดสัญญาเช่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมด้วยทำเลที่ตั้งใกล้กับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯ ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าสู่เขตพระราชธานีเมื่อครั้งในอดีต หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ประตูสู่รัตนโกสินทร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์กลางกรุงเทพมหานคร   
  เมื่อโจทย์มีอยู่ว่าทำอย่างไรให้ 'นิทรรศน์รัตนโกสินทร์' เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์แบบ ให้คนไทยที่ก้าวเข้ามาได้กลับออกไปด้วยความภาคภูมิใจในมรดกแผ่นดินที่สืบทอด บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ จึงถูกระดมเข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษา อาทิ อ.เผ่าทอง ทองเจือ, ศ.มรว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, อ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์  และรัตนาวุธ วัชโรทัย ร่วมด้วยคณะกรรมการวิชาการ นำโดยพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ,ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร, ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล, ดร.สิริกร มณีรินทร์, เกรียงไกร สัมปัชชลิต, ดร.กรรณิการ์ สัจกุล, ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ และวัฒนะ บุญจับ โดยบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ดำเนินงานออกแบบ บูรณะ และบริหารอาคาร
 กระทั่งกลายมาเป็น 'นิทรรศน์รัตนโกสินทร์' ที่นำเสนอเรื่องราวด้านต่างๆแห่งยุครัตนโกสินทร์ ผ่านห้องจัดแสดง 7 ห้อง ซึ่งตั้งชื่อไว้อย่างคล้องจองกัน ได้แก่รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์,เกียรติยศแผ่นดินสยาม, เรืองนามมหรสพศิลป์,ลือระบิลพระราชพิธี,สง่าศรีสถาปัตยกรรม,ดื่มด่ำย่านชุมชน และเยี่ยมยลถิ่นกรุง และในปี 2554 จะจัดแสดงครบสมบูรณ์เพิ่มเป็น 9 ห้อง
   เริ่มต้นเปิดม่านนิทรรศการที่ 'ห้องรัตนโกสินทร์เรืองโรจน์' ห้องแรกบนชั้น 2 ที่เหมือนพาผู้ชมนั่งไทม์แมชชีนในห้องลิฟท์โดยสารขนาดใหญ่ ย้อนกลับไปสู่เมื่อครั้งแรกเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านภาพยนตร์สื่อผสม 4 มิติ ทั้งแสง สี เสียง และสัมผัส เล่าเรื่อง 'กรุงรัตนโกสินทร์' อันเป็นนามของราชธานีไทยที่เรียกขานกันมาตั้งแต่เริ่มแรกสถาปนาในปีพ.ศ.2325 จนเปลี่ยนแปลงมาเป็น 'กรุงเทพมหานคร' ในปัจจุบัน เกิดจากการวางรากฐานอย่างมั่นคงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างการวางผังเมืองตามตำราพิชัยสงคราม ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
 ภาพยนตร์บนจอค่อยๆ ฉายให้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเหนือวัดอรุณฯ สื่อถึงราชธานีแห่งใหม่ พร้อมๆ กับลิฟท์ที่เคลื่อนมาหยุดบนชั้น 3 ต่อมายัง 'ห้องเกียรติยศแผ่นดินสยาม' ซึ่งจัดแสดงหุ่นจำลองพระบรมมหาราชวังที่สมบูรณ์แบบ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รวมถึงคติแนวคิดในการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังตามคติความเชื่อในความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ที่สะท้อนผ่านงานด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นสูงในพระบรมมหาราชวัง อาทิ ลายรดน้ำ , การประดับกระจกสี ฯลฯ และตำนานพระแก้วมรกต ครั้งแรกกับจัดแสดงพระแก้วมรกตจำลองในเครื่องทรงครบทั้ง 3 ฤดูในคราวเดียว 
  ก่อนที่หลายคนจะสนุกกับการลอดประตูสนามราชกิจ หรือที่ชาววังเรียกกันโดยทั่วไปว่า 'ประตูย่ำค่ำ' เข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งในอดีตสาวชาววังใช้ผ่านเข้า-ออก เป็นโอกาสเดียวที่ผู้ชายจะมีสิทธิ์ชมสาวชาววังกำลังซ้อมรำ ประดิษฐ์ดอกไม้ สัมผัสถึงกลิ่นหอมผ่านนิทรรศการเสมือนจริงที่นี่
  อีกหนึ่งห้องที่มีสีสันมากที่สุด คือ 'ห้องเรืองนามมหรสพศิลป์' ย้อนยุคไปชมการแสดงมหรสพสมโภชผ่านเทคนิคการนำเสนอแบบรอบทิศทาง 360 องศา ชมความบันเทิงแห่งยุคที่เคยอยู่คู่คนไทยมาช้านาน โดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอุปถัมภ์มหรสพ โปรดเกล้าฯให้จัดแสดงในหลายโอกาสเพื่อบำรุงขวัญประชาชน
  ภายในห้องนี้ยังนำเสนอเรื่องราวที่มาของมหรสพ อันมีเค้าโครงต้นกำเนิดจากการระบำ รำ เต้น จนกลายเป็นมหรสพที่สำคัญ อาทิ หนังใหญ่ โขน ละคร และหุ่น ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น แอบดูท่าทางลิงและสนทนาภาษาท่าทางโขนกับ 4 ตัวละครหลักผ่านสื่ออินเตอร์แอทคทีฟ ทดลองเชิดหุ่นกระบอกจริงด้วยตัวเอง ชมหุ่นหลวงที่นับวันจะหาคนเชิดยากเต็มที
 ถัดมาเป็นการนำเสนอที่มาและความสำคัญของพระราชพิธีสำคัญๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ภายใน 'ห้องลือระบิลพระราชพิธี' โดยเฉพาะพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ความหมายของการเสี่ยงทายผ้านุ่งและคำทำนายอาหารเลี้ยงพระโคทั้ง 7 อย่าง เป็นต้น  ชื่นชมความงดงามตระการตาของเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรูปแบบเมจิกวิชั่น และตำนานช้างเผือก สัตว์มงคลคู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ
  อีกหนึ่งมรดกวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ที่น่าสนใจ คือ เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมวัด วัง และบ้าน ใน 'ห้องสง่าศรีสถาปัตยกรรม' ซึ่งมีวิวิฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสมัยตามความเจริญที่เข้ามา และการรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากจีน และชาติตะวันตกมาปรับใช้ จำลองบรรยากาศระเบียงวัดที่นำเสนอวัดประจำรัชกาล จำลองการควบม้า พายเรือ ขับรถเสมือนจริง ชมบ้านเรือนในแต่ละยุคสมัยผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟ
   จากนั้นก้าวย่างไปใน 12 ชุมชนบนเกาะรัตนโกสินทร์ที่ย่อมาไว้ในที่เดียวในห้องดื่มด่ำย่านชุมชน  อาทิ ชุมชนบ้านบาตร บ้านตีทอง ถนนดินสอ ปิดท้ายด้วยห้องเยี่ยมยลถิ่นกรุง รวบรวมและนำเสนอสถานที่น่าสนใจบนเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งสถานที่ที่โดดเด่นด้านสถาปัตยกรรม สวนสาธารณะยอดนิยม พิพิธภัณฑ์ อาหารการกิน จับจ่ายสินค้าและสีสันยามค่ำคืน โดยก่อนเข้าชมที่ห้องนี้จะจำลองร้านฉายาราชดำเนินให้มาถ่ายรูป ก่อนที่แต่ละคนจะพบตัวเองกลายเป็นตัวละครหลักในแอนนิเมชั่นท่องเที่ยวไปทั่วกรุง
   หากเราได้รู้ว่า ย่านเดิมๆที่เคยผ่าน วัด-วัง-บ้านที่เคยเห็น มหรสพที่ไม่เคยคิดจะนั่งดู ล้วนมีประวัติยาวนานและบอกเล่าเรื่องความเป็นมาของวัฒนธรรมยุครัตนโกสินทร์ได้อย่างสนุกสนาน ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนก้าวขาออกไปเรียนรู้ด้วยตนเองในสถานที่จริง หลังจากก้าวออกจากนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ "คุณค่าของยุคสมัย สัมผัสได้ในหนึ่งวัน" 
..........
หมายเหตุ : นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็น Night Museum เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคมศกนี้ เป็นต้นไป ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ค่าบริการ ผู้ใหญ่ ทั้งคนไทยและต่างชาติ คนละ 200บาท (พิเศษช่วงแรกบัตรลดราคาเหลือ 100บาท ) ส่วนเด็กนักเรียนและนักศึกษา พระภิกษุสงฆ์และผู้สูงอายุเข้าชมฟรี ดูรายละเอียดข้อมูลและกิจกรรมต่างๆได้ทางwww.nitasrattanakosin.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก