วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

100 ปีโรงเรียน ลูกผู้ชาย


โดย.. ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง  
ในปี 2553 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งได้รับขนานนามว่า เป็น "อีตัน เมืองไทย" จะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์...

 ก่อนจะถึงวันสถาปนาครบรอบ 100 ปีในวันที่ 29 ธันวาคมปีหน้า บรรดาลูกวชิราวุธเริ่มโหมโรงจัดงานวชิราวุธ 100 ปี ต้อนรับปีสำคัญแห่งการเฉลิมฉลองนับจากวันนี้ โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ศิษย์เก่าวชิราวุธรุ่น พ.ศ.2500 เป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน เป็น 100 ปีของเบ้าหลอมโรงเรียน "ลูกผู้ชาย" ที่ทรงอิทธิพลแห่งหนึ่งของเมืองไทย ด้วยเครือข่ายนักเรียนเก่าที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียงตั้งแต่องคมนตรี นายทหาร นายตำรวจและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจใหญ่ ศิลปินแห่งชาติ จนถึงผู้กำกับและดาราในวงการบันเทิง


 แม้จะพ้นจากรั้วโรงเรียนมานานกว่า 50 ปีแล้ว แต่สายสัมพันธ์ของลูกวชิราวุธรุ่นสู่รุ่นยังเหนียวแน่น กลับมาช่วยงานโรงเรียนอยู่เสมอ เมื่อนึกถึงเรื่องราวในวัยเรียน ดร.สุเมธ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในวัยอายุย่าง 70 ยังจดจำวีรกรรมสมัยนั้นได้ดี เคยแอบหนีไปล้างรูปในห้องมืดระหว่างชั่วโมงซ้อมดนตรีปี่สกอตต์ จนโดน "พระยาภะรตราชา" (ม.ล.ทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการโรงเรียนตบสอนให้หลาบจำไปหนึ่งที
 "นักเรียนวชิราวุธคนไหนไม่เคยโดนพระยาภะรตราชาตบ ถือว่ายังไม่จบจริง (หัวเราะ) ผมเคยโดนแค่หนเดียว ถือว่าน้อยมากจัดอยู่ในกลุ่มความประพฤติเรียบร้อย" ดร.สุเมธ เล่าติดตลก ถึงอดีตสมัยยังเป็นนักเรียนวชิราวุธรุ่นเดียวกันกับอดิศัย โพธารามิก    
 "รุ่นเราเรียนจบชั้น ม.8 ในปี พ.ศ.2500 พอดี เลยเรียกกันว่ารุ่น 500 แต่ผมเรียนถึงชั้น ม.6 ออกมาก่อน ไปเรียนต่อไฮสคูลที่เวียดนามแต่มาจบที่ลาว แล้วไปต่อที่ฝรั่งเศสจนจบปริญญาเอก อาจจะแปลกไปจากคนอื่น"
 ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย หรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2453 แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยนำแนวทางโรงเรียน Public School ชั้นดีของอังกฤษ อบรมปลูกฝังเด็กชายให้เป็นสุภาพบุรุษ จนได้รับขนานนามว่าเป็น "อีตัน เมืองไทย"
 "วชิราวุธสอนผมให้เป็นคน" ดร.สุเมธ ให้คำจำกัดความสั้นๆ แต่ชัดเจน ถึงสิ่งได้รับการหล่อหลอมในโรงเรียนที่ติวเข้มหลักสูตรความเป็นคนที่สมบูรณ์ ในทุกๆ มิติ ไม่ใช่เป็นแค่ "ตู้หนังสือเคลื่อนที่" เรียนในห้องอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องทำกิจกรรม เล่นกีฬา เล่นดนตรี เข้าสังคมอยู่ร่วมกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะคนข้างบนหรือข้างล่างในสังคม  
 โอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีวชิราวุธ จึงถือเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญเพื่อร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2553 อาทิ แสตมป์ที่ระลึกงานวชิราวุธ 100 ปี, แข่งกีฬาการกุศล, หนังสือและของที่ระลึก ฯลฯ ก่อนเข้าสู่กิจกรรมหลักของงานวชิราวุธ 100 ปีระหว่างวันที่ 18-29 ธันวาคม 2553 ทั้งภาคกลางวัน กลางคืน รวมทั้งเปิดโอกาสให้สาธารณชนภายนอกเข้ามาเยี่ยมชมโรงเรียน ซึ่งโอกาสเช่นนี้มีไม่บ่อยนัก
 กิจกรรมทั้งหมดนี้ วชิราวุธวิทยาลัยจะเป็นแกนกลางจัดร่วมกับองค์กร สถาบันต่างๆ ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นตลอดรัชสมัย อาทิ ธนาคารออมสิน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สถานเสาวภาและวชิรพยาบาล รวมไปถึงการกอบกู้กิจการแบงก์สยามกัมมาจล จนยืนหยัดเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน เป็นต้น
 ในวันแถลงข่าว นักเรียนเก่าวชิราวุธรุ่น 36 ดุสิต นนทะนาคร ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานฝ่ายจัดหารายได้ จึงมั่นอกมั่นใจกล้าประกาศเสียงดังฟังชัดว่า "ครบรอบ 100 ปีวชิราวุธ ตั้งใจจะระดมเงินสัก 100 ล้านบาท" นำมาสมทบทุนสร้าง "อาคารวชิราวุธ 100 ปี" ทดแทนอาคารหลังเก่าที่ทรุดโทรม
 เห็นรายนามแต่ละองค์กรที่เป็นแนวร่วม รวมถึงทำเนียบนักเรียนเก่าวชิราวุธที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น บันเทิง ตันติวิท ประธานกลุ่มธนชาต และเอ็มบีเค, สุพล วัธนเวคิน กลุ่มเกียรตินาคิน, ธงชัย ล่ำซำ แห่งล็อกซเล่ย์, เชาวน์ ณ ศีลวันต์, บรรยงค์ พงษ์พานิช, พงส์ สารสิน, สงกรานต์ อิสสระ, สยาม สังวริบุตร และอีกมากมายที่เอ่ยนามได้ไม่หมดในที่นี้ เห็นทีงานนี้ยอดเงินบริจาค 100 ล้าเผยแพร่บทความนบาท...คงไม่ไกลเกินเอื้อม
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
ที่มา  Life Style : Society กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 มิถุนายน 2552 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก