วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โลกอีกด้านของ ‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’

ดูเหมือนไม่มีอะไรให้ต้องแนะนำอะไรกันมาก สำหรับผู้หญิงที่ชื่อ ‘จิระนันท์ พิตรปรีชา’ เพราะกว่าครึ่งชีวิตของเธอ เป็นบุคคลสาธารณะที่สังคมรู้จักมักคุ้น
    แต่จิระนันท์ คนที่ ‘ใครๆ ต่างก็รู้จัก’ มีมากกว่าความเป็นกวีซีไรต์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง หรือแม้แต่แค่ ‘ไอคอน’ ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ อย่างน้อยๆ ครั้งหนึ่งสมัยเป็นนักศึกษา เธอเคยฝันอยากจะเป็นช่างภาพลุยๆ แบบนักข่าวสงคราม สมัยสงครามเวียดนาม 

  ใครจะรู้ว่า หลายๆ ความฝันแม้จะไม่เป็นจริง แต่เป็นแรงขับดันให้เธอแพ็คกระเป๋าออกเดินทางแสวงหา ค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ตะลุยเดี่ยวไปทั้งโปรตุเกส โคลัมเบีย เอธิโอเปีย นิการากัว เปรู และอีกหลายต่อหลายประเทศ 
  บนเส้นทาง’นักเดินทาง’ ตัวยง ครั้งหนึ่ง (นานมาแล้ว) จิระนันท์ เป็นนักเขียนคนแรกๆ ที่เดินทางเข้าไปในลาว และเขียนเรื่องหลวงพระบางลงใน อสท. เป็นคณะทัวร์บุกเบิกรุ่นแรกๆ ที่ไปลี่เจียง และจิ่วจ้ายโกว จนกระทั่งชื่อเรียก "อุทยานธารสวรรค์จิ่วจ้ายโกว" ที่เธอเป็นคนตั้ง กลายเป็นคำสุดฮิตในโฆษณาแทบทุกทัวร์ที่ไปที่นั่น
  ทุกวันนี้ จิระนันท์ ยังคงแพ็คกระเป๋าเดินทางอยู่เรื่อยๆ ทริปล่าสุด เธอเพิ่งกลับมาจากเกาะซาราวัค ที่รัฐบาลมาเลเซีย เชิญไปร่วมเป็นตัวแทนแต่งบทกวีจากนานาชาติ 
 นอกจากก๊วนทัวร์ ชมรมท่องอุษาคเนย์ที่เคยกอดคอกันจัดร่วมกับ ธีรภาพ โลหิตกุล และ กฤช ชลธาร์นนท์ เธอยังมีก๊วนเพื่อนนักวิชาการ ก๊วนนักเขียน ก๊วนกินอาหารอินเดีย ก๊วนชิมไวน์ ฯลฯ รวมถึงก๊วนช่างภาพ ที่รักการถ่ายรูป ใครจะรู้ว่า สมัยหนึ่งเธอคือเจ้าแม่ (เอเย่นต์) ปฏิทินตัวจริง ที่อยู่เบื้องหลังการประสานช่างภาพในชุดปฏิทินภาพถ่ายแนวสารคดีให้กับหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ 
  ล่าสุด เธอรวมกลุ่มกับเพื่อนพ้องในวงการช่างภาพ ก่อตั้งกลุ่ม ‘สห+ภาพ’ จัดนิทรรศการภาพถ่ายสัญจร “ตลาด...ยังไม่วาย” ครั้งแรก ที่ตลาดสามชุก
  ชีวิตของจิระนันท์ มีหลายด้าน และทุกวันนี้เธอยังเป็นนักกิจกรรมตัวยง แม้ชีวิตของเธอไม่ได้มีแต่ด้านสว่าง แต่เธอผ่านชีวิตและดำเนินชีวิต เป็น ‘ใบไม้’ ที่ยังคงสดใสร่าเริง ในวัยย่าง 54 ปี ด้วยวิธีบริหารชีวิตให้มีความสุข ในเส้นทางที่เธอเลือก...

ที่บอกว่าการเดินทางและการถ่ายภาพ เป็นเหมือนการวิ่งไล่ความฝันอย่างหนึ่ง ช่วยเล่าหน่อยค่ะ
 ความชอบถ่ายภาพนี่เริ่มมานานแล้ว ตั้งแต่เรียนปีหนึ่งที่จุฬา ก็อยู่ชมรมถ่ายภาพ ตอนนั้นคุณเดโช บูรณบรรพต เป็นประธานชมรม เราเป็นลูกน้องคอยสะพายกล้องเดินตามเขา ยังจำได้ว่า วันที่ได้รับเลือกเป็นดาวจุฬาฯ บนเวทีต้องแสดงความสามารถพิเศษ โอเคเลยพูดบทกวีสดๆ โดนถามต่อว่าแล้วทำอะไรได้อีก? ถ่ายรูปค่ะ ตอบอย่างองอาจมากเลยนะ ช่างภาพหน้าเวที เลยยื่นกล้องให้ เราเลยยกขึ้นมาถ่ายคนดูซะเลย (หัวเราะ) นั่นแหละความสามารถพิเศษ... 
  เรื่องถ่ายรูป ก็เลยเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ในกระแสเลือด สมัยตอนเรียนจุฬาฯ ยุค 14 ตุลาฯ ยุคนั้นกรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งชุมนุมของนักข่าวช่างภาพระดับโลกที่เข้ามาทำข่าวสงครามเวียดนาม ตอนนั้นเลยมีความฝันอย่างหนึ่ง อยากเป็นนักข่าวช่างภาพลุยๆ แบบนักข่าวสงคราม 
 ถึงจะไม่ได้เป็น แต่ความฝันพวกนี้ มันเป็นแรงผลักดันจริงๆ เชื่อไหมว่าเคยไปถึงเปรู เอธิโอเปีย นิการากัวก็ยังเคยไป ไปคนเดียว เพราะความอยากพวกนี้ วิ่งไล่ความฝัน โดยไม่เกี่ยวกับชื่อเสียง หรืออะไรเลย แต่รู้ตัวว่า เรากำลังไล่ตามอะไรอยู่ บางเรื่องไม่มีเวลาเขียนด้วยซ้ำ มัวไปแปลหนังสืออยู่ 

ต้องแพ็คกระเป๋าเดินทางทุกปี?  ทุกปี จนกระทั่งตอนหลัง มาพบอีกช่องทางหนึ่ง คือ Poetry Festival เป็นงานเทศกาลกวีนิพนธ์นานาชาติ ไปเสิร์ชหาเจอทางอินเทอร์เน็ต ครั้งแรกเลยคือไปที่โปรตุเกส ปี 2000 ที่เมืองชื่อ Coimbra เห็นเมืองแล้วสวยมาก อยากไป เลยเขียนจดหมายไปถาม สมัครไปเองเลย ส่งประวัติผลงานไป ไปถึงทางนั้นเขารับรองให้หมด หาแต่ค่าตั๋วเครื่องบิน ถึงเวลาก็ตระเวนขึ้นไปอ่านบทกวีตามจุดต่างๆ ที่จัดงาน
 ต่อจากนั้น ก็มีติดต่อไปร่วมเทศกาลกวีแบบนี้เรื่อย มีไปที่โคลัมเบีย เป็นงานเทศกาลกวีที่ใหญ่ที่สุดของโลกชื่อ International Poetry of  Medellin แต่ดันไปจัดอยู่ในโคลัมเบีย เพราะคลั่งบทกวีกันทั้งเมือง ประเทศเขาคนอ่านออกเขียนได้ประมาณ 60% แต่ความเป็นกวีอยู่ที่ใจ อยู่ในสายเลือด อยู่ในวัฒนธรรม
เวลาเดินทางไปประเทศแปลกๆ หรือไกลๆ เลยมักจะใช้ช่องทางนี้? 
  ตอนหลังๆ ถ้าจะไปดินแดนลึกลับ ต้องไปด้วยวิธีนี้  นิการากัว เปรู ก็ไปมาแล้ว ถ้าไปงานอย่างนี้ เขามารับตั้งแต่หน้าสนามบินเลย มีคนมาดูแล แล้วรอบต่อไปถ้าจะไปเราก็รู้แล้ว การเดินทางไปพวกประเทศกลุ่มละตินอเมริกา จะยากตรงที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีไฟลต์บินตรงจากเอเชีย ส่วนใหญ่จะใช้ KLM แล้วไปต่อที่อัมสเตอร์ดัม รวมเวลาทั้งสิ้นสามสิบกว่าชั่วโมง

เดินทางกับถ่ายภาพด้วยควบคู่กันไป?   ก็มักจะอย่างนั้น แต่ระยะหลังๆ มักจะคู่กับช่างภาพ (หัวเราะ) จะมีช่างภาพตามไปถ่ายภาพด้วย พอใจฝักใฝ่อยู่กับเรื่องนี้ เวลาเจอช่างภาพก็จะรีบปรี่เข้าไปหา เข้าไปคุย เราเป็นคนดูรูปเป็นก็เลยยิ่งสนุกสุดขีด  กับช่างภาพจะมีก๊วนหนึ่งที่นัดกินข้าวคุยกัน นัดมาฉายสไลด์ขึ้นจอโชว์รูปกัน เหมือนชมรมพระเครื่อง แล้วด้วยความสมองใส เลยสร้างวีรกรรมเข้าไปประมูลงานปฏิทินจากบริษัทใหญ่ๆ ตั้งคอนเซปต์เลย เช่น เสนอทำเรื่องอุทยานแห่งชาติ แบ่งไปเลยใครมีรูปอะไรที่ไหน เอามาดูกัน
 แต่ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ก็เป็นจุดเปลี่ยน ปฏิทินก็เลิกทำ จริงๆ เราทำเอาสนุก ไม่ได้คิดแบบแม่ค้า แต่สิ่งที่ได้มาอย่างมหาศาล คือได้เพื่อนคอเดียวกัน อย่าง ‘น้าชำ’ ชำนิ ทิพย์มณี ปกติจะไปไหนถ่ายภาพคนเดียว แต่เราก็ดึงๆ ให้มาเข้ากลุ่มด้วยกัน

แล้วทำไมถึงเลือกมาทำอาชีพเป็นกวี นักเขียน นักแปล แทนที่จะเป็นช่างภาพ 
  ทำไป ทำมา รู้สึกว่าคนอื่นเขาถ่ายได้ดีอยู่แล้ว มันเหมือนกับทำอะไรมาจนอิ่มแล้ว เลือกมาดูแลคนดีกว่า เรื่องอะไรจะไปแข่งกับพวกเขา
ว่ากันว่า อาชีพกวี นักเขียน มักจะไส้แห้ง มีวิธีบริหารชีวิตยังไงให้สมดุลค่ะ
 ก็ทำหลายอย่าง เพราะถ้าเป็นกวีอย่างเดียวก็คงไม่รอดเหมือนกันในแง่เศรษฐกิจ  โอเคที่บ้านพอมีฐานะ แต่การพึ่งตนเองเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของชีวิตด้วย และเป็นสิ่งที่ควรจะทำ ดังนั้นเราก็ต้องคิดเรื่องนี้พอสมควร อย่างเรื่องปฏิทินก็เป็นทางออกทางหนึ่งของกวี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของบทกวี ไปหารูปมาสิ ใส่กวีเข้าไปสี่บรรทัด แพ็คเกจจิ้งใหม่ ได้ราคาเลยใช่ไหม ถ้าไปขายแต่บทกวีเปล่าๆ เขาอาจจะไม่เอา
วิธีคิดแบบนี้ เริ่มต้นมาจากไหน
  ไม่ได้เรียนมา แต่เป็นเรื่องของทัศนคติ ทัศนคตินี้มาจากไหน มาจากการที่ออกจากป่ามา เราต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่หมด เริ่มอันดับแรก ต้องเรียนหนังสือให้ดีเพื่อที่จะเอาทุนให้ได้ ซึ่งได้มาจริงๆ ตอนเรียนต่อปริญญาโท สมัครเรียนด้วยเกรดเกียรตินิยม
  ตอนที่ไปเรียนที่คอร์แนล มันไปเจอสิ่งที่เราถูกใจมากๆ แค่เซคชั่นเดียวในห้องสมุด มันค้นพบไปเรื่อยๆ แล้วความที่เราต้องคิดแล้วไง ออกมาจากป่ามันก็กลายเป็นนิสัย เราทำเพื่อความอยู่รอด ทำเพื่อศักดิ์ศรี อุดมการณ์  ทำเพื่อใจรัก หลายๆ อย่างมันต้องอยู่รวมกันให้ได้
  ในที่สุดมันก็ยำรวมออกมาเป็นสูตรผสมใหม่ ก็คือ งานบวกเล่น บวกสนุก คือชีวิตมันไม่มีเส้นแบ่งประเภทว่า เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นอยู่ที่ทำงาน คืออยู่ในนรก กลับมาพักผ่อนอยู่บ้านคือวิมานของเรา รุ่งเช้าไปลงนรกใหม่ อย่างนี้ไม่มี สำหรับตัวเองการใช้ชีวิตทุกอย่างต้องกลมกลืนกัน
หลายอย่างทำเพราะความสนุกด้วย? 
   หลายอย่างที่ทำมายาวนานไม่ใช่เพราะความจำเป็นนะ แต่เพราะความสนุก ยกตัวอย่าง แปลหนัง ไม่ใช่ว่าจะได้เงินเยอะ แต่เพราะความสนุก คืองานกับเล่นต้องเป็นเรื่องเดียวกัน มันถึงจะดี ชีวิตถึงจะดี แต่ถ้าใครที่เลือกไม่ได้ คำแนะนำก็คือ ต้องพยายามปรับให้เรื่องงานเป็นเรื่องสนุก ซึ่งสามารถทำได้ ด้วยการเติมมุข เติมแก๊กอะไรเข้าไปบ้าง
  ลองดูสิอย่างคนที่เป็นจราจร หรือคนกดลิฟต์ ต้องทำอยู่อย่างนั้นทั้งวัน แต่แล้วก็มีจราจรออกมาเต้นเบรกแดนซ์ ทั้งสร้างความบันเทิงให้ผู้ชมและความสนุกกับตัวเอง หลายอย่างอาจจะเริ่มด้วยงาน แต่แล้วเราก็หาความสนุกใส่ตัวโดยที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า อย่างงานพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกัน พูดจริงๆ เครียดนะ ระหว่างที่ทำก็พยายามคิดแก๊ก คิดมุก ครีเอทสุดๆ

ทำอย่างไรถึงดูมีชีวิตชีวา สนุกกับการใช้ชีวิตได้ตลอดเวลา  มันไม่ใช่เคล็ดลับอะไรหรอก ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเอง คือเป็นเพราะไม่หยุดอยากรู้สักที อย่างเขียนบทหนังก็เป็นความอยากอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปกติชีวิตทุกวันนี้ก็ยุ่งจะตายอยู่แล้ว แต่ก็ยังอยากจะทำ เขาเรียกว่า  Curious Mind อยากรู้ นิสัยของเด็ก คำจำกัดความก็คือ อยากรู้ อยากโต อยากโชว์ อยากช่วย
  คุณสมบัติอยากรู้นี่มีมาตลอดเลย ยกตัวอย่างตอนที่รางวัลซีไรต์ใหม่ๆ เคยไปทำรายการทีวี ในใจไม่ได้อยากเป็นดาราหรอก แต่แค่อยากรู้ว่าทีวีเขาทำกันอย่างไร ถ้าลองเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน เขาหยุดอยากรู้มานานแล้ว เขาคิดว่าเขารู้หมดแล้ว หรือว่าชีวิตเขาคงที่ ลงตัวแล้วและเขาพอใจ ในขณะที่เราถ้าอยู่นิ่งๆ นานๆ รู้สึกเหมือนมันค่อยๆ ตาย ต้องตะกายไปหาอะไรทำเรื่อยๆ

อะไรคือหลักในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข
  ไม่มีหลักการ แต่โชคดีที่เป็นคนขี้ลืม การลืมเป็นเหมือนการปลดภาระอย่างหนึ่ง สมมติโกรธคนนี้มากในวันนี้ พอผ่านสามวัน พี่จะเผลอนึกว่าเป็นสามเดือนแล้ว และความโกรธมันก็จะหายไป แต่ถ้าช่วงวันไหนที่ยุ่งมากๆ จนสติแตกแล้วเนี่ยนะ...หยุดรับโทรศัพท์ แล้วจะลงไปขุดดิน ทำสวน มีความสุขกับต้นไม้ รักเหมือนเป็นลูก โดยเฉพาะเฟิร์น เป็นคนที่บ้าเฟิร์นเอามากๆ ชนิดที่ว่าเคยถึงไปที่เฟิร์นพาราไดซ์ที่เชียงใหม่ ดูตามรูปแล้วก็ไป
   ทำสวน เป็นอะไรที่ทำแล้วมีความสุขที่สุด บ้านจะมีสวนหย่อมอยู่ข้างหน้าและสวนกระถางอยู่ข้างหลัง ตอนนี้กำลังเตรียมจะทำดาดฟ้าบ้านให้เป็นสวนพริกนานาชาติ เป็นความใฝ่ฝัน เพราะไปเห็นตอนเรียนที่คอร์แนล ที่นั่นมีพันธุ์พริกจากทั่วโลกสารพัดเผ่าพันธุ์ยิ่งกว่าที่เราจินตนาการอีก ความสนใจทางพฤกษศาสตร์มีสูงมาก
ทุกวันนี้อึดอัดไหมเวลาโดนผู้คนรุมทึ้งในความเป็น ‘จิระนันท์’ 
   ความชื่นชมจากผู้คนเป็นสิ่งดีที่ไม่ได้มีโอกาสเช่นนี้กันบ่อยนักและยาวนานขนาดนี้ เคยลงหนังสือพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่สมัยเป็นดาวจุฬาฯ สามสิบกว่าปีแล้ว และช่วง 14 ตุลาฯ ตอนออกจากป่า มาถึงตอนได้ซีไรต์ ในวงวิชาการก็พอมีผลงานอยู่บ้างเล็กน้อย รวมถึงอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ที่เข้ามา แม้กระทั่งเป็นแม่แทนไทกับวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล 
  ถามว่าเบื่อไหม ในส่วนหนึ่งเราไม่ได้มีเพรสเชอร์แบบพวกดารา ไปกิ๊กกับใคร อะไรต่ออะไร ปัจจัยลบข้อนี้มันไม่มี เราก็เอนจอยทำอะไรของเราไป แต่โอเค ในความเป็นส่วนตัว บางทีก็ลำบาก เราต้องการนาทีส่วนตัวมันก็ไม่ค่อยมี เวลาไปไหนมาไหน แต่ว่าสัญชาตญาณอย่างหนึ่งคือทำให้มันสนุกไปทุกเรื่อง อย่างเซ็นหนังสือเดอะซีเคร็ต ตอนงานมหกรรมหนังสือเมื่อปีกลาย วันเดียว 600 เล่ม กลับมาแขนเดี้ยงสุดๆ แต่ระหว่างที่เซ็น ไม่ได้รู้สึกว่าลำบาก หรือคิดถึงเรื่องยอดขาย คิดว่าจะเซ็นให้มันสนุก เซ็นประโยคนี้ไปสามเล่มแล้ว เดี๋ยวเปลี่ยนไหม เล่มนี้อ่านแก้ร้อนนะคะ เล่มนี้อ่านดีๆ มีรางวัล

ช่วงหลังๆ จะเห็นจิระนันท์ในบทบาทพรีเซ็นเตอร์โฆษณาในนิตยสาร ไปออกงานโน้นงานนี้มากขึ้น เป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งไหม
 ไม่..คือเราไม่ค่อยสะทกสะเทือนกับการตีตราไง ถ้าเป็นซ้ายต้องซ้ายตลอด เป็นนักวิชาการก็ต้องมาฟอร์มนี้ เป็นกวีก็ต้องแบบนี้เพื่อชีวิต มันเป็นได้หลายๆ อย่าง โดยที่เรารู้ว่าเราไม่ได้เสียตัวตน ไม่ได้เสียจุดยืน และนี่เป็นจุดยืนของเราที่คุณไม่ได้เห็น หรือไม่ได้คาดหวังด้วยซ้ำ แต่เราคือเรา
  ถูกด่าว่าเป็นไฮโซนี่...บ่อย แต่ก็มองเหมือนเวลาเรามองคนดูทีวี ที่เวลาเห็นใครโผล่ออกมาในจอ เออไอ้นี่มันไปแย่งผัวคนอื่น พระเอกคนนี้มันเป็นตุ๊ด อะไรแบบนี้ เราก็มองว่าความเข้าใจคงอยู่แค่ในระดับนั้น ไม่ได้ฉุนนะว่าจะมองเราว่ายังไง เพราะความมั่นคงในจิตใจมีสูงมา
 ไม่ใช่ความมั่นใจแบบเซลฟ์สุดๆ อะไร แต่เป็นความมั่นคงในจิตใจที่มีสูงมาก ต้องใช้คำนี้

Presentable
ไก่บ้าน..บ้าน ที่เอธิโอเปีย
  การถ่ายภาพ เป็นความสุขอย่างหนึ่งของจิระนันท์ พิตรปรีชา ตั้งแต่สมัยเด็กๆ มาแล้ว ด้วยความที่แม่เป็นครู จะมีกล้องเก่าๆ โบราณตัวหนึ่ง ถ่ายรูปเก็บไว้เยอะมาก เป็นรูปขาวดำ   
 “การถ่ายรูปเยอะๆ ทำให้เราได้รู้ว่า บางอย่างที่ผ่านสายตาและความรับรู้เราไปแล้ว หลายจุดในนั้นเราไม่ได้สังเกตเห็นด้วยซ้ำ จนกระทั่งเราได้เห็นภาพนั้นอีกครั้ง ”
  จิระนันท์บอกว่าส่วนใหญ่ถนัดถ่ายภาพคนและชื่นชอบการถ่ายภาพคน เพราะมันเป็นเหมือนการทดสอบปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ว่าจะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม  แต่รู้สึกว่าสามารถสื่อสารถึงกันได้
  ส่วนภาพถ่ายรูปนี้ มีชื่อว่า ภาพไก่บ้าน...บ้าน เป็นภาพของหนุ่มชาวพื้นเมืองในเอธิโอเปีย ยืนถือไก่ขายในตลาด เป็นภาพที่ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายตลาดสัญจร“ตลาด...ยังไม่วาย” ที่ 44 ช่างภาพ มารวมตัวในนาม กลุ่ม ‘สห+ภาพ’ เปิดแสดงที่ตลาดสามชุกไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้ 
  “ชอบภาพนี้ เพราะยังจำติดอยู่ในใจ ตอนนั้นตะลุยไปเดินที่ตลาดท้องถิ่นในเอธิโอเปีย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตในตลาดแบบบ้านๆ ที่ขายของกันครึกครื้น ยืนอุ้มไก่ขายกันเป็นตัวๆ แล้วจังหวะนั้นเขาหันมาสบตาเราพอดี เป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่จะถ่ายรูป ไม่กี่วินาทีที่เขาหันมาสบตาเราแบบเป็นธรรมชาติ ”
  รูปนี้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศตลาดไก่ชานเมืองแอดดิส อบาบา ในเอธิโอเปีย ไก่ตัวเป็นๆ ถูกจัดวางและซื้อขายอย่างเป็นธรรมชาติ บนพื้นโคลนเฉอะแฉะริมถนน ไม่มีแผงลอย ตู้กระจก หรือถุงพลาสติก แต่ละวันชาวเอธิโอเปียนับร้อยมาชุมนุมกันที่นี่ กิจกรรมหิ้ว อุ้ม จับ จูง จ่าย จิก เป็นไปอย่างคึกคัก

Be My Guest / เสาร์สวัสดี ฉบับวันที่ 13 ธ.ค. 51

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก