วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สถาบันคึกฤทธิ์” คลังปัญญา..ปราชญ์แห่งตำนาน


โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
เปิดสถาบันคึกฤทธิ์..เปิดคมความคิด ชีวิตและผลงาน"ม.ร.ว.คึกฤทธิ์"ต้นแบบสื่อมวลชน นักการเมือง นักปราชญ์ เสาหลักประชาธิปไตย ที่คนไทยยังจดจำ
“..เรามากันด้วยความเคารพรัก และด้วยความภาคภูมิใจที่เมืองไทยมีนักการเมืองที่ดีได้เหมือนกัน” ประโยคปิดท้ายปาฐกถาของอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ไม่เพียงสร้างความซาบซึ้งให้กับทายาทอย่าง ม.ล.วิสุมิตรา ปราโมช และผู้ฟังทั้งหอประชุมที่สถาบันคึกฤทธิ์ 


แต่ยังให้คำจำกัดความได้ดีถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ที่ชื่อ“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์”จากถ้อยคำที่อดีตนายกฯอานันท์ มาร่วมปาฐกถาถึงบทบาทด้านการเปิดสัมพันธไมตรีไทย-จีนที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก พร้อมด้วยท่านทูต กว่าน มู่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ณ อาคารสถาบันคึกฤทธิ์  
      โอกาสนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นประธานเปิดสถาบันคึกฤทธิ์ ทอดพระเนตรนิทรรศการชีวประวัติและผลงานของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และทรงร่วมฟังปาฐกถาในงาน

  นอกจากการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญและเข้มแข็งของผู้นำบ้านเมืองในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อสงครามเย็น จนกลายเป็นเกร็ดเรื่องเล่า“ข้าพเจ้ามิใช่คอมมิวนิสต์ แต่ข้าพเจ้ามาหาเพื่อน”วาทะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตอบประธานเหมาเจ๋อตุงซึ่งเอ่ยทักทายว่า“มาหาคอมมิวนิสต์อย่างข้าพเจ้า ไม่รู้สึกกลัวหรือ”
      ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังถือเป็นบุรุษในตำนานที่สร้างคุณูปการและสีสันในทุกบทบาทของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น นายธนาคาร นักการเมือง นายกรัฐมนตรี นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน อาจารย์มหาวิทยาลัย นักแสดงฯลฯ ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงสุดในทุกด้าน และเป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโก ด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน
           ล่าสุด ชีวิตและผลงานของปราชญ์ระดับตำนานทั้งหมดถูกรวบรวมไว้เป็นคลังมรดกทางปัญญาเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาศึกษาค้นคว้าภายใน“สถาบันคึกฤทธิ์” ซึ่งมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ใช้เงินลงทุนรวม 108 ล้านบาท จัดสร้างขึ้นบนที่ดินราชพัสดุพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ ในซอยงามดูพลี เขตสาทร กรุงเทพฯ ติดกับกรมการบินพลเรือน
“หากได้ศึกษาผลงานของท่าน จะรู้ว่าปราชญ์ที่ดีนั้นเป็นอย่างไร” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์  80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ บอกเช่นนั้น 
        ภายห้องนิทรรศการ 3 ห้อง และห้องสมุดอีก 1 ห้องบนอาคารชั้น 2 ของสถาบันคึกฤทธิ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมแนวคิดและผลงานด้านต่างๆของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ทั้งด้านการเมืองการปกครอง ดนตรี นาฎศิลป์ไทย ภาษา หนังสือและวรรณกรรม 
       ห้องแรก ผู้ชมจะได้ทำความรู้จักกับ“ความเป็นคึกฤทธิ์”ในมิติที่หลากหลายของบุรุษที่เคยเป็นทั้งนักการธนาคาร ครู นักเขียน นักแสดงหนังฮอลลีวู้ด นายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของเมืองไทย ฯลฯ  ผ่านประวัติชีวิต และแกลอรี่ภาพถ่าย  รวมถึงมุม Computer Kiosk ที่สามารถสืบค้นข้อมูลเชิงลึกที่หาชมได้ยาก เช่น ลายมือเลคเชอร์สอนวิชาปรัชญา,คำชี้ชวนเสนอขายพันธบัตรทองคำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น
       ส่วนห้องที่ 2 นักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองชื่อ“คึกฤทธิ์ ปราโมช” พาย้อนวันเวลาไปสู่บรรยากาศโรงพิมพ์สยามรัฐ บทบาทในฐานะนักหนังสือพิมพ์และนักการเมืองที่สะท้อนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และการ์ตูนล้อการเมือง ทัศนคติของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมแต่ละยุคสมัย บทบาทนักการเมืองผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคกิจสังคม บทบาทผู้นำในเวทีโลกที่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไทย-จีน บทบาทนักสู้เพื่อเสรีภาพหนังสือพิมพ์ 
ห้องนี้ถือเป็นห้องที่ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยกให้เป็นไฮไลท์ที่อยากให้ได้เข้ามาเรียนรู้ต้นแบบของสื่อมวลชนตัวจริง และแบบอย่างของนักการเมืองซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักประชาธิปไตย เข้ามาผ่าทางตัน แก้ไขปัญหาบ้านเมืองในยามวิกฤติ

     ส่วนห้องที่ 3 คึกฤทธิ์กับ“ความเป็นไทย” รวบรวมไปหลากหลายแง่มุมที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับความเป็นไทย วัฒนธรรมไทยในเรื่องต่างๆ ไว้อย่างแหลมคมและน่าสนใจ ความเป็นพุทธศาสนิกชน ความจงรักภักดีที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ส่วนบริเวณชั้นล่างของสถาบันคึกฤทธิ์ จัดสร้างเป็นโรงละครกึ่งกลางแจ้งเพื่อเปิดเวที สำหรับการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย อย่างเช่น โขนในชุมชนทุ่งมหาเมฆโดยกลุ่มเด็กๆและเยาวชน และในอนาคตมีแนวคิดจะส่งเสริมการแสดงลำตัดชุมชน ลิเกชุมชนอีกด้วย
          สำหรับสถาบันคึกฤทธิ์อยู่ภายใต้ความดูแลของมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ซึ่งก่อตั้งขึ้นเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 80 ปี เมื่อปี 2534 โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นประธานมูลนิธิคนแรก โดยการริเริ่มของบุญชู โรจนเสถียรและบรรดาลูกศิษย์และมิตรสหาย
          ปัจจุบัน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการมูลนิธิ ต่อจาก ดร.อำนวย วีรวรรณ ทำหน้าที่มือประสานสิบทิศระดมทุนเพื่อก่อตั้งสถาบันคึกฤทธิ์ ซึ่งใช้เวลา 1 ปี ระดมทุนได้ทั้งสิ้น 122 ล้านบาท โดยคุณชายอุ๋ยเล่าว่า รู้สึกชื่นใจกับโครงการนี้ที่ได้รับการสนับสนุนด้วยดี เพียงแค่บอกว่าจะทำโครงการนี้เพื่ออะไร ทุกคนเต็มใจและเต็มที่เพื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และยังนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสมทบทุนในครั้งนี้ด้วย ร่วมด้วยผู้บริจาคภาครัฐ อาทิ สำนักงบประมาณผ่านกระทรวงวัฒนธรรม,ธนาคารแห่งประเทศไทย, บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ภาคเอกชน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ,ธนาคารกรุงเทพฯ ,ธนาคารกสิกรไทย,มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ชักชวนบริษัทที่นั่งเป็นกรรมการมาร่วมบริจาค ,ภาคสื่อมวลชน ไทยรัฐ มติชน สยามรัฐ บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ ,และกลุ่มผู้บริจาคนักการเมือง นำโดยดร.อำนวย วีรวรรณ ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่ คุณหญิงธิดา พงษ์พานิช ,โกศล ไกรฤกษ์,ดร.สุบิน ปิ่นขยัน, อุดร ตันติสุนทร ร่วมด้วย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ,สุวิทย์ คุณกิตติ,สมศักดิ์ เทพสุทิน,ไพโรจน์ สุวรรณฉวี,พงษ์เทพ เทพกาญจนา, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นต้น   
---------------------------------- 
หมายเหตุ : อาคาร”สถาบันคึกฤทธิ์” ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 99/9  ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ติดกับสถาบันการบินพลเรือน (คนละแห่งกับบ้านคึกฤทธิ์ ซอยสวนพลู)  เว็บไซต์สถาบันคึกฤทธิ์  http://kukrit-pramoj.org  หรือ โทร. 0-2286-5385-6

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก