วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปรัชญายิ้มสู้น้ำ..ตัน ภาสกรนที

ปรัชญายิ้มสู้น้ำ..ตัน ภาสกรนที

          เรื่อง ....ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง 
          น้ำมาเดี๋ยวมันก็ผ่านไป ชีวิตยังต้องดำเนินต่อ ไม่มีเช้าไหนที่ฟ้าไม่สว่าง ยังมีพระอาทิตย์ขึ้นใหม่ทุกวัน ถ้าเรายังไม่ตาย ยังมีกำลังใจ ชีวิตเราก็ยังมีความหวัง           ข้อคิดง่ายๆ ที่ ตัน ภาสกรนที ฝากถึงใครที่กำลังท้อแท้ หมดหวัง ขอเพียงไม่หมดกำลังใจ ชีวิตยังเริ่มใหม่ได้เสมอ

          หลังน้ำท่วมโรงงานอิชิตันที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา ผ่านไป 2 วัน ตันเปิดใจถึงบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้จากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ในงานเปิดตัวหนังสือ วิถี(ไม่)ตัน ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
          ระหว่างทางออกจากโรงงานระยะทาง 14 กิโลเมตร สองข้างทางผมเห็นแต่น้ำท่วม มีทั้งโรงงานที่น้ำท่วมมากกว่าผม คนที่ไม่มีบ้านจะอยู่ ไม่มีงานทำ หมดตัว ไม่มีเงิน แม้แต่บัตรประชาชนก็ยังไม่มี บางคนถึงขั้นคิดอยากจะฆ่าตัวตาย เรื่องโรงงานผมน้ำท่วมเป็นเรื่องเล็กกว่ากันเยอะ ไม่หนักหนาเท่าคนที่เขาเดือดร้อน บางคนไม่เหลืออะไรเลย
          วิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นวิกฤติของประเทศไทยและคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่รัฐบาล ทหาร หรือว่าทีวีช่องไหน มูลนิธิไหน แต่ทุกคน ทุกบริษัทไม่ว่าจะอยู่จังหวัดที่น้ำท่วมหรือไม่ท่วม ถ้ายังมีกำลังงานนี้ต้องออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันถึงจะผ่านวิกฤติไปได้
          ตันเปรียบเทียบว่า น้ำท่วมเมืองไทยครั้งนี้รุนแรงไม่ต่างจาก สึนามิน้ำจืด ถึงขนาดโรงงานของเขาจะก่อกำแพงปูนหนาสูง 3 เมตรยังต้านทานแรงน้ำไว้ไม่อยู่ ตู้คอนเทนเนอร์ไหลไปทั้งอัน น้ำทะลักจนปูนทะลุ           ว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่วิกฤติครั้งแรกในชีวิตที่ตันแพ้ภัยเพราะเรื่อง น้ำ ย้อนไป 30 ปีก่อนสมัยเริ่มต้นเป็นเจ้าของธุรกิจครั้งแรก เงินลงทุนก้อนแรก 5 หมื่นที่หยิบยืมมาเปิดแผงขายหนังสือ ก็เคยละลายหายไปกับลังหนังสือใต้ท้องรถทัวร์ที่ท่วมฝน
          ตอนนั้นผมว่าหนักกว่า เพราะเป็นเงินก้อนแรกที่ผมหยิบยืมเงินคนอื่นมาลงทุน วันนั้นไม่มีใครเชื่อว่าผมจะทำได้ ไม่มีคนให้กำลังใจเหมือนวันนี้ และผมยังมีความหวัง มีทุนที่จะทำใหม่ได้อีก
          แต่ที่กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะโรงงานใหม่สร้างจวนจะเปิดอยู่รอมร่อ เหมือนลูกเพิ่งคลอดใหม่ยังไม่ทันจะชื่นใจก็เสียไปต่อหน้าต่อตา เห็นใจคนที่เจ็บกว่าท้อกว่า นั่นคือพนักงานที่สู้อุตส่าห์ฉาบปูน ปั๊มน้ำ สู้กันมาจนนาทีสุดท้าย           ผมอยากอยู่ที่นั่นสักคืน กินข้าวกับเขา ไปให้กำลังใจเขา..อยู่ให้สมกับที่ลงทุนลงแรงกันมา
          เป็นช่วงเวลาที่ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตอีกรูปแบบ ถึงขนาดเจ้าตัวตั้งใจว่าโรงงานใหม่ถ้าเปิดอีกครั้งจะทำห้องนิทรรศการเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์
          รถผมฝ่าเข้าไปจะถึงโรงงานแล้วเกือบจะตกคลองจมน้ำ เห็นแต่หลังคา เหมือนคลิปวีดิโอเวิร์คพอยท์ ผมอยู่ชั้นสองที่โรงงาน เห็นตะขาบ เห็นงูกำลังเลื้อย งูกำลังกินหนูอยู่บนหลังคา ขากลับสรยุทธ์ยังเจอจระเข้           ถ้าคิดบวกมองในแง่ดี ในวิกฤติที่ดูเหมือนจะโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี คือ เราเจอก่อนก็ได้มีประสบการณ์ ได้เรียนรู้ก่อนคนอื่น
          ตอนนี้ถ้าจะปลูกบ้านใหม่ผมรู้แล้วว่าจะต้องสูง 1.50 เมตร ถ้าจะทำโรงงานใหม่จะต้องสูงกว่าเดิมอย่างน้อย 2.80 เมตร นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ อีกอันหนึ่งคือถ้าคิดจะซื้อที่ดินข้างแม่น้ำผมจะยกเลิก (หัวเราะ)
          ในวิกฤติยังทำให้เห็นน้ำใจที่ผุดพรายขึ้นมากมาย ตันเล่าว่า ลูกน้องบางคนเดินมาบอกว่าจะขอลดเงินเดือนผมบอกว่าไม่ต้องมาเลียนแบบญี่ปุ่น ยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ได้ใจกันไปครับ           อีกสิ่งที่ประทับและอยากให้สังคมช่วยกันชื่นชมมากกว่ายอดเงินบริจาคว่าใครให้มากเท่าไหร่ คือ บรรดาอาสาสมัครกู้ภัยที่สละเวลา เสี่ยงชีวิต ฝ่ากระแสน้ำให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทำงานกันด้วยใจล้วนๆ วิกฤติธรรมชาติคราวนี้ตันฝากข้อคิดว่าเราอย่าไปโทษใคร ให้โทษตัวเอง โลกนี้ต้องประกอบไปด้วยสมดุลเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถ้าเราเอาแต่ใช้ธรรมชาติจนลืมที่จะดู วันหนึ่งธรรมชาติก็จะเอาคืนกับเราเหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้น
          ก็เหมือนสามีกับภรรยา ผู้บริหารกับพนักงาน ถ้าเอาแต่ใช้แต่ไม่เคยดูแลกัน วันหนึ่งเขาก็จะเอาคืนจากเรา ทำอย่างไรได้อย่างนั้น ธรรมชาติสอนให้เรายอมรับและเรียนรู้ว่าจะอยู่ร่วมกันต่อไปต้องดูแล
          ส่วนเรื่องโรงงานอิชิตันที่ลงทุนไป 3,500 ล้านจะเอาอย่างไรต่อไป ยังไม่มีความคิด ยังมีเวลาให้คิดเดี๋ยวน้ำลดหมดค่อยว่ากัน ตอนนี้มีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนกว่า อะไรที่มีกำลังมีความสามารถช่วยเหลือคนอื่นที่เดือดร้อนได้ เวลานี้อยากให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก