วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

My Way: วราวุธ เจนธนากุล ครีเอทีฟ...เมค"เซ้นส์"

   ถ้าเปรียบชีวิตเหมือนรถ จังหวะชีวิตของ เอ- วราวุธ เจนธนากุล กำลังเป็นผู้บริหารที่ชีวิตติดสปีดไม่ต่างจากซูเปอร์คาร์ความเร็วสูง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกับบทบาทเจ้าของบริษัทผลิตรายการทีวีน้องใหม่ ‘เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์’ที่ออกตัวแรง

พร้อมเป้าหมายฉลองชัยรายได้ปีที่สองแตะ 200 ล้านบาท จาก 3 รายการหลักๆ ‘เกมเนรมิต’เรียลลิตี้โปรเจคร้อยล้านที่เครือ SCG ทุ่มทุนสร้างแบรนด์ผ่านจอ ,‘ศึกน้ำผึ้งพระจันทร์’ที่สร้างแบรนด์เครือซีพี ผ่านเรียลลิตี้โชว์ขอแต่งงาน CP Will you Marry Me และ ‘5 มหานิยม’ที่เจ้าตัว โดดมาทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการเอง           ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การเข้าสู่วงการบันเทิงเป็นเจ้าของรายการทีวีถือเป็นจุดพลิกผันที่แทบจะไม่เคยอยู่ในความนึกคิดมาก่อนในชีวิตของหนุ่มที่ร่ำเรียนจบและทำงานด้านไฟแนนซ์และการลงทุนที่เต็มไปด้วยตัวเลข  เจ้าของดีกรีปริญญาโทบริหารธุรกิจ Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ในอดีตหนุ่มคนนี้เคยผ่านการทำงานเป็นวาณิชธนากร และผู้จัดการฝ่ายตราสารหนี้ที่เมอร์ริล ลินช์ ภัทร อยู่พักใหญ่ๆ
          “ผมเรียนจบด้านไฟแนนซ์มา เคยอยากเป็นนักการเงินการธนาคาร แต่หลังจากได้มีโอกาสทำงานสักพัก ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าอาจจะไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตจริงๆ สำหรับการเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งเป็นคนละความรู้สึกกับการที่ผมได้มาทำธุรกิจเอง สร้างธุรกิจขึ้นมาเอง เรารู้สึกว่ามันเป็นผลงานของบริษัทที่เราจับต้องได้ เห็นภาพได้”          จุดเปลี่ยนของหนุ่มไฟแนนซ์เริ่มขึ้น เมื่อได้รับคำชักชวนจาก สุภกิต เจียรวนนท์ ให้กลับมาช่วยงานเครือซีพี ซึ่งเป็นองค์กรที่ผูกพันมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ (วรวิทย์ เจนธนากุล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF) ก็ทำงานเป็นลูกหม้อเติบโตมากับเครือซีพี
          อีกหนึ่งบทบาทของวราวุธในปัจจุบันยังทำงานประจำในตำแหน่งเป็นผู้ช่วยประธานกรรมการบริษัท ทรูวิชั่นส์  เดินทางติดตามผู้ใหญ่ไปดูงานที่เมืองจีนบ่อยๆ จนกระทั่งบุคลิกมาดมั่น พูดจาฉาดฉาน เข้าตาบอสใหญ่เวิร์คพอยท์ชักชวนให้มาเป็นพิธีหน้าใหม่แจ้งเกิดครั้งแรกรายการตู้ซ่อนเงินเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ก่อนจะก้าวออกมาเติบโตเป็นผู้ผลิตรายการทีวีหน้าใหม่เองอย่างเต็มตัวเมื่อปีที่แล้ว โดยชูความโดดเด่นตอบโจทย์รายการเกมโชว์และวาไรตี้รูปแบบ Branded Entertainment ช่องทางสร้างแบรนด์ที่สินค้าหลายค่ายให้ความสนใจ
          “จริงๆ แล้ว ผมอยากเริ่มต้นธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ค่อยเป็นค่อยไป แต่เผอิญปีที่ผ่านมามีจังหวะที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว เมื่อมีโอกาสเข้ามาเราก็ต้องคว้าไว้ บางทีคนชอบพูดว่ามีโอกาสมากมาย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่พร้อม โอกาสก็จะไม่ใช่โอกาสถ้าเราไม่ได้ทำมัน”          โอกาสที่ว่าหมายถึงการเป็นผู้ผลิตรายการเกมเนรมิต โปรเจคระดับร้อยล้าน โดยเข้าไปนำเสนอรูปแบบรายการทีวีแบบ Branded Content สร้างสรรค์รูปแบบรายการสาระบันเทิง โดยตีโจทย์นำเสนอความโดดเด่นด้านความเป็นผู้นำสินค้าวัสดุก่อสร้างเครือ SCG ผ่านเนื้อหารายการสู่สายตาผู้ชมอย่างกลมกลืน
          “จุดขายที่เรานำเสนอ คือ ครีเอทีฟบวกมาร์เก็ตติ้งที่เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้า นำเสนอโปรดักชั่นรายการแบบใหม่ กล้าทำในสิ่งที่ไม่มีใครกล้าทำ เรามองว่า SCG เป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างมั่นคง มีนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นแบรนด์ที่ตอบโจทย์กิจกรรมเพื่อสังคมอยู่แล้ว เมื่อจับ 3 อย่างนี้มารวมกัน จึงเกิดเป็นรูปแบบเกมเนรมิตที่ใช้วัสดุก่อสร้างมาก่อสร้างจริง ทำให้เห็นจริงดีกว่า นำไปสร้างอาคารสาธารณประโยชน์ในที่ต่างๆทั่วประเทศ”
          นอกจากการนำเสนอไอเดียรูปแบบใหม่ๆ ชายหนุ่มมองว่า สิ่งที่สำคัญคือความกล้า ไม่ใช่แค่กล้าที่จะทำแต่ต้องทำให้ได้อย่างที่พูดด้วย
          “การทำงานแบบถึงลูกถึงคนก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย ผมเป็นคนพูดคำไหนคำนั้น การสร้างความเชื่อมั่นขึ้นอยู่กับการทำจริงด้วย ถ้ารับปากใครแล้วต้องทำให้ได้”          โจทย์สำคัญที่ท้าทายสำหรับการทำรูปแบบรายการแบบ Branded Content  คือ ทั้งผู้ชม สถานี และผู้สนับสนุนรายการ ทุกฝ่ายต้องแฮปปี้ไปด้วยกัน
          “ถ้าผมทำรายการแล้วเนื้อหาไม่ดี แน่นอน ผู้สนับสนุนก็ไม่แฮปปี้ ช่องก็ไม่แฮปปี้ แต่ถ้าทำอะไรที่คนดูรู้สึกว่ายัดเยียด แน่นอนเขาก็ไม่อยากดู ดังนั้น การทำรายการต้องบาลานซ์ 3 อย่างตลอดเวลา”          กลยุทธ์มาร์เก็ตติ้งบวกไฟแนนซ์บวกครีเอทีฟ เป็นหลักการบริหารอย่างหนึ่งที่เจ้าของรายการอดีตหนุ่มไฟแนนซ์นำมาใช้ในการบริหารธุรกิจบันเทิง
          “บางรายการถ้าเน้นขายแต่โฆษณา Tie-in ในรายการจนสูญเสียอรรถรสในการดู จนคนดูรู้สึกว่าไม่ดูดีกว่า เรทติ้งก็น้อยลง คุณจะบาลานซ์ยังไงให้อยู่ได้ ผมว่าส่วนหนึ่งมันเป็นไฟแนนเชียลที่นำมาจัดการได้ เช่น ผมรู้ว่ารายการมีต้นทุนเท่านี้ ผมจะขายยังไงให้ cover ค่าใช้จ่าย และอีกส่วนหนึ่งคือต้องใช้ศิลปะการบริหาร ศิลปะการผลิต ที่สำคัญ คือ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีไฟ มีฝันที่เหมือนกัน ถึงจะไปด้วยกันได้...
          บางทีเราทำรายการ ต้องถามตัวเองก่อนอยากดูไหม ถ้าตัวเองอยากดูถึงทำ ถ้าตัวเองไม่อยากดู ผมว่าอย่าทำดีกว่า และผมจะไม่ดันทุรัง ถ้าอันไหนผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ผมเปลี่ยนเอง ไม่ต้องมีคนบอกให้เปลี่ยน เพราะผมเองจะเป็นคนแรกที่ทนไม่ได้  อย่างศึกน้ำผึ้งพระจันทร์ ถามว่ารูปแบบเก่ามีคนชื่นชอบมั้ย...มี แต่ผมบอกว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้ว ก็เปลี่ยนเถอะ เปลี่ยนแล้วยังไม่ลงตัวก็ค่อยๆ ปรับให้ลงตัว”
          ในฐานะผู้ผลิตรายการหน้าใหม่ มีรายการแบบไหนที่อยากเห็นและอยากทำ ?
          “ผมอยากเห็นรายการแบบ Branded จากหลายๆ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคและคนดู นั่นเป็นแนวทางที่เราวางตัวเองไว้และอยากขยายให้เติบโต คือ สร้างสรรค์รายการที่มีประโยชน์กับคนดู”          ฟังแล้วในแง่ผู้บริโภคยุคนี้เรากำลังถูกครอบงำด้วยแบรนด์และแบรนด์ไหม ? ในทัศนะของวราวุธ มองว่า สำหรับรายการทีวีแล้วทุกอย่างอยู่ที่ศิลปะในการสร้างสรรค์รายการ ซึ่งเขาเชื่อว่าในที่สุดผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะไม่มีใครอยากดูรายการที่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดด้วยโฆษณาขายสินค้าตลอดเวลา ความท้าทายของเขาเป้าหมายที่อยู่เราอยากทำรายการที่ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงกับผู้ชม ให้แรงบันดาลใจ ฝันไกลของนักธุรกิจบันเทิงคนนี้ยังหมายมั่นอยากผลิตคอนเทนท์รายการที่สามารถออกไปโกอินเตอร์ในต่างประเทศ ทำเงินและสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองไทยอีกด้วย
          “เรื่องศิลปะในการสร้างสรรค์รายการเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ทุกวันนี้มีทีวีค่อนข้างเยอะทั้งทีวีดาวเทียม ทีวีเคเบิล มีทีวีเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าคนที่มีความสามารถก็จะไหลกระจายไปอยู่หลายๆ ที่  การสร้างบุคลากรการทำรายการโทรทัศน์ ทางด้านสื่อสารมวลชน ก็ต้องสร้างเพิ่มขึ้น มันเป็นรอยต่อของคลื่น เป็นจังหวะที่ต้องเร่งสร้างประสบการณ์เก็บเกี่ยวประสบการณ์ของตัวเองขึ้นมารับช่วงต่อ พัฒนาวงการให้มันดียิ่งๆ ขึ้นไป”           บทบาทการบุกเบิกเป็นเจ้าของธุรกิจบันเทิงน้องใหม่ พิธีกรรายการ และการทำงานเป็นผู้ช่วยประธานกรรมการบริษัท ทรูวิชั่นส์ ทำให้เวลา 7 วันในหนึ่งสัปดาห์แทบจะไม่มีพอ สำหรับการทุ่มเทเต็มร้อยให้กับการทำงานชนิดมือระวิง ถ้าเปรียบเทียบเป็นความเร็วก็ต้องบอกว่าวิ่งด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะมองว่าเป็นจังหวะชีวิตในวัยที่ยังมีกำลังทำได้ก็ต้องทุ่มเทเต็มที่ เพราะเป็นช่วงสำคัญของการบุกเบิกสร้างความมั่นคงในชีวิต ส่วนหนึ่งมีต้นแบบจากคุณพ่อซึ่งทุ่มเททำงานหนักมาตลอด ขณะที่เจ้านาย (สุภกิต เจียรวนนท์) ก็เป็นคนที่ทำงานตลอดเวลา ทำให้เขาเห็นคุณค่าของการทุ่มเททำงานหนัก
          “ตั้งแต่เด็ก ๆ เวลาเห็นเพื่อนคนนั้นคนนี้มีเงินหรือบ้านรวย ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมอยากได้อยากมีเหมือนเขา แต่ผมอยากเป็นคนเก่งมากกว่า เวลาเห็นคนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ ผมจะไม่ได้มองที่ตัวเงิน แต่จะมองวิธีว่าเขาประสบความสำเร็จอย่างไร ส่วนเรื่องเงินทองเป็นเรื่องที่ตามมาทีหลังมากกว่า ตั้งแต่เล็กๆ ผมจะอ่านประวัติชีวิตคนค่อนข้างเยอะ เป็นการสร้างแรงจูงใจว่าเราอยากประสบความสำเร็จแบบคนรุ่นก่อนๆ” ชายหนุ่มเล่าถึงความมุ่งมั่น--จบ--

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก