วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คืนรอยยิ้มชุมชนร้อยปี..รังสิตคลอง 3

     ถึงแม้ ท่าข้าว ที่ตลาดเก่าคลอง 3 ริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จะหลงเหลือแค่เงาอดีตของย่านค้าข้าวโบราณที่หายไปพร้อมความเจริญที่ขยายสู่ชานเมือง และพื้นที่นาที่เปลี่ยนไปเป็นโรงงานและหมู่บ้านจัดสรร แต่มรดกประเพณีวัฒนธรรมไทย-จีน จิตวิญญาณของผู้คนในชุมชนย่านเก่าที่นี่ไม่ได้หมดลมหายใจตามไปด้วย ผ่านภารกิจสามัคคีรวมพลังของคนรุ่นใหม่หัวใจอาสาพร้อมเหล่าผู้อาวุโสในชุมชนที่ช่วยกันคืนรอยยิ้มริมคลองแห่งนี้ให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

          จากก้าวแรกของโปรเจคเล็กๆ ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 3 หมื่นบาทที่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี (คลองหก) บีม-ปิยะดา จิตรชาตรี และเพื่อนๆ ที่ช่วยกันระดมไอเดียนำเสนอโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ พร้อมแนวทางสืบสานวัฒนธรรมประเพณีในชุมชนผู้สูงอายุ คลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ (ชุมชน 1 ศตวรรษ) จนคว้าทุนสนับสนุนจากโครงการ Red Bull U Spirit กระทั่งกลายเป็นชุมชนนำร่องแห่งแรกที่ สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา หัวเรือใหญ่ เรดบลูสปิริต สนใจเข้ามาช่วยต่อยอดสู่ โครงการ รอยยิ้มริมคลอง โครงการเพื่อสร้างสุขภาวะและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุในชุมชน อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยซึ่งก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society พร้อมจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ความพร้อมในการรับมือสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต การสร้างกิจกรรมและการรวมกลุ่มพบปะของผู้สูงอายุ เพื่อไม่ให้รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว รวมถึงการลดช่องว่างวัยในสังคม การถ่ายทอดภูมิปัญญาที่มีค่าจากรุ่นสู่รุ่น เป็นประเด็นสังคมอีกด้านที่เรดบลูสปิริตให้ความสนใจริเริ่มโครงการใหม่ในปีนี้ ภายใต้โครงการใหญ่เมืองมีน้ำใจที่อยากหันมาขยายการทำกิจกรรมเติมเต็มช่องว่างสังคมเมืองนอกเหนือการออกพื้นที่ต่างจังหวัด โดยร่วมกับทีมสถาปนิกชุมชนกลุ่ม openspace ลงพื้นที่ร่วมทำงานกับชุมชนนานร่วมปี ก่อนจะถึงวันดีเดย์ ระดมทีมอาสาสมัครกว่า 50 ชีวิต ลงพื้นที่ช่วยกันลงแรงแข็งขันสร้างชุมชนในฝัน           หลังจากการลงพื้นที่เราพบว่าผู้คนที่นี่มีใจอาสาสูงมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุในชุมชนที่ให้ความตื่นตัวอยากจะร่วมทำโครงการเพื่อปรับปรุงชุมชนให้น่าอยู่ขึ้น ซึ่งการมีส่วนร่วมและการเปิดรับของคนในชุมชนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากของการเข้าไปทำโครงการ ความฝันของพวกเขาไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อมเลย เช่น อยากมีมุมพักผ่อนสังสรรค์ มีพื้นที่สีเขียว มุมสมุนไพรที่ปลูกพืชกินได้ ซึ่งเราสามารถช่วยกันเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้ฝันเหล่านี้เป็นจริงได้ สุทธิรัตน์กล่าว
          พร้อมเล่าว่า ผลจากการพาอาสาสมัครมาสัมผัสและทำกิจกรรมด้วยตัวเองผ่านโครงการต่างๆ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ประสบการณ์ตรงที่ได้รับของเหล่าอาสาฯ ทำให้เกิดการกลับไปขยายแนวร่วมในสังคมและชุมชนที่อยู่รอบข้าง รวมถึงเชื่อมโยงพลังของบรรดาอาสาฯกลายเป็นเครือข่าย เช่น อาสาฯน้องๆ นักศึกษากับอาสาฯผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งถือเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง
          ปัจจุบันเรดบลูสปิริต (http://www.redbullspirit.org/) ยังถือเป็นหนึ่งในสื่อกลางของชุมชนจิตอาสาขนาดใหญ่มีผู้สนใจเข้ามาเป็นแนวร่วมประมาณ 4-5 หมื่นคน ในจำนวนนี้มีเครือข่ายที่ผู้สนใจทำงานอาสาฯอย่างจริงจังประมาณ 2 พันคน โดยมีตั้งแต่อาสาฯรุ่นเล็กที่สุดอายุ 7 ขวบ ไปจนถึงอาสาฯรุ่นอาวุโสวัย 80 ปี
          สำหรับบรรยากาศของการลงพื้นที่เนรมิตฝันให้กับชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ เริ่มขึ้นตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยบรรดาอาสาฯ ที่แบ่งกลุ่มกันลงพื้นที่ปรับปรุงสวนสมุนไพรหน้าบ้านโกคิ้ม จัดสวนสมุนไพร ปลูกต้นไม้ จัดสวนแนวตั้ง สร้างเครื่องบริหารร่างกายด้วยไม้ไผ่ ปรับปรุงมุมสงบหน้ารูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ทำสวนผักลอยน้ำปลอดสารพิษ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างรอยยิ้มกับการร่วมกันเรียนรู้วิถีการกินแบบแต้จิ๋วจาก หงี่เจ๊ก และอาม่าในชุมชนที่มาถ่ายทอดเคล็ดวิชาการทำขนมกุยช่าย ภูมิปัญญาอาหารจีนแต้จิ๋วสูตรดั้งเดิม           สำหรับชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์แห่งนี้ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวิถีผูกพันกับสายน้ำคลองรังสิตมายาวนาน โดยเป็นกลุ่มชาวจีนแต้จิ๋ว 3 แซ่ใหญ่ๆ แซ่เตียว แซ่ตั้ง แซ่แต้ ที่อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมที่นี่เคยเป็นท่าเรือขนส่งซื้อขายข้าวที่สำคัญของภาคกลางและคลองรังสิตเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ทั้งยังเป็นสถานที่เล็กๆ ที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เคยเสด็จประพาส และยังเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ไทยอมตะเรื่อง แสนแสบ
          ปัจจุบัน ชุมชนยังคงรักษาวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋ว เช่น การทำขนมก๋วงเจียง, ก๋วยบ๊ะ,บ๊ะจ่าง รวมถึงสภาพบ้านเรือน ยุ้งฉางเก็บข้าวเก่า ชิ้นส่วนเรือ ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม การเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ฯลฯ จะมีก็แต่วัยและอายุของสมาชิกชุมชนที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นชุมชนผู้สูงอายุ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก