วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

My Way: ยอดมรดก ยอดคำสอน ดร.เทียม โชควัฒนา

 ไม่เพียงมรดกทางธุรกิจ บริษัทน้อยใหญ่กว่า 200 แห่งใน เครือสหพัฒน์ ที่ยังคงโลดแล่นเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

          20 ปีหลังการจากไปของ ดร.เทียม โชควัฒนา ยังมีมรดกทางความคิด คำสั่งสอนจากบันทึกความทรงจำ 1,600 หน้าของนักสู้ชีวิตผู้บุกเบิกเครือสหพัฒน์ ที่ยังทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา           นานนับแรมปีที่ทายาทคนที่ 5 ศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บมจ.บูติคนิวซิตี้ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ อดตาหลับขับตานอนทำหน้าที่บรรณาธิการ อ่านบันทึกความทรงจำทั้งหมด 1,600 หน้าของผู้เป็นพ่อที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2514-2521
          กว่าจะกลั่นกรอง และรวบรวมจัดทำเป็นชุดหนังสือ รำลึกคุณ..ดร.เทียม โชควัฒนา ทั้ง 10 เล่มบอกเล่าบันทึกประสบการณ์ชีวิตด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชีวิตนักสู้, การเรียนรู้, เศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลก, ธุรกิจ, สหพัฒน์และบริษัทในเครือ, การตลาด, การบริหารงาน, ทรัพยากรมนุษย์, การดำเนินชีวิต-สังคมเป็นสุข ตลอดจน 100 ปรัชญา ดร.เทียม โชควัฒนา           หนังสือชุดนี้ยังถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพการเปลี่ยนผ่านของสังคม เศรษฐกิจ เหตุบ้านการเมืองในช่วงชีวิต 75 ปีของนักธุรกิจ 4 แผ่นดิน ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2459-2534 นับตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ชีวิตในภาวะเศรษฐกิจก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง
          หลายคนบอกว่าได้ดิบได้ดีวันนี้เพราะคำสอนของคุณพ่อ คำสอนเหล่านี้ดิฉันจึงตั้งใจรวบรวมนำกลับมาถ่ายทอดใหม่อีกครั้ง เพื่อส่งต่อกำลังใจสู่คนรุ่นหลัง ให้รู้ว่าปัญหา คือ กำไรของชีวิต ปัญหายิ่งมาก กำไรชีวิตยิ่งเยอะ ไม่มีอะไรแก้ไขไม่ได้           ความเป็นนักสู้ชีวิตที่เริ่มต้นจากเรียนหนังสือน้อย แต่ประสบความสำเร็จด้วยหลักการดำเนินชีวิตแบบคิดบวก และคุณธรรมประจำใจ ไม่ว่าจะเป็น รู้น้อยไม่เกี่ยงงาน ด้วยความเจียมตัวว่าเรียนน้อย สร้างแรงฮึดให้สู้งานหนักไม่ย่อท้อ และสนใจที่จะเรียนรู้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
          เกิดเป็นคน..ทำงานต้องมองสูง ชีวิตความเป็นอยู่..ต้องมองต่ำ ถ้ามองคนยากลำบากกว่าเรา แล้วจะรู้ว่าเราโชคดีที่สุด นอกจากไม่น้อยเนื้อต่ำใจกับชีวิตจะได้มีเมตตาช่วยเหลือคนอื่น แต่เวลาทำงานให้มองคนที่เก่งกว่า จะได้ขวนขวายพัฒนาตัวเอง
          ปรัชญาวิธีคิดต่างๆ เหล่านี้ นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ผ่านคำสอนที่ ดร.เทียม ที่ใช้รูปแบบบันทึกถึงลูกน้อง โดยเริ่มถ่ายทอดความคิดมาตั้งแต่สมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว           คุณพ่อจะถนัดภาษาจีนมากกว่า ภาษาไทยจะเขียนไม่ค่อยถนัด เมื่อมีลูกน้องมากขึ้น จึงใช้วิธีพูดให้เลขาฯฟังแล้วเอาไปพิมพ์ ซีร็อกซ์แจกต่อๆ ไปยังลูกหลานและพนักงาน ตอนนั้นดิฉันอายุ 20 กว่า ความที่อายุน้อย ได้รับมาก็เก็บๆ ไว้ ไม่ได้สนใจ คิดว่าอ่านเมื่อไหร่ก็ได้
          จนกระทั่งได้ย้อนกลับมาอ่านอย่างจริงจังเมื่อตั้งใจจะทำหนังสือ หลังชีวิตผ่านอะไรมาเยอะ เจอปัญหาเยอะ เห็นโลกมาเยอะ ได้เรียนรู้ว่าการอ่านความคิดของคุณพ่อช่วยให้เราได้เกิดปัญญาที่แตกฉาน ปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทำให้เราเข้าใจทุกอย่าง การรู้จักให้อภัย การเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง
          คำว่า Change ซึ่งคนยุคนี้พูดถึงกันเยอะ หลายคนมักเข้าใจถึงปฏิรูปหรือปฏิวัติทีเดียวแล้วจบ แต่สำหรับคุณพ่อ คือ การคิดสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดนิ่ง ต้องริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ตลอด เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา...           อีกคำที่นึกถึงตรงกับยุคนี้ หลายคนพูดถึงการเปิดเสรีอาเซียน ต่อไปจะมีเมืองจีนเข้ามาแข่ง มีคนเข้ามาคู่แข่งของคนไทยมากมาย ดิฉันจะนึกย้อนถึงคำพูดของคุณพ่อที่บอกเสมอว่า คู่แข่งไม่ใช่คู่แค้น แต่มองคู่แข่งคือเครื่องวัดมาตรฐานของเรา ทำให้เกิดการปรับปรุง การพัฒนา
          อีกหนึ่งปรัชญาการทำธุรกิจที่สอนเสมอๆ คือ คำว่า เร็ว ช้า หนัก เบา หมายถึงการทำงานทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีจังหวะเวลาที่เหมาะสม ต้องหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า งานไหนทำก่อน งานไหนทีหลัง งานไหนต้องจริงจัง และงานไหนที่พอควร           สินค้าบางอย่างทำเร็วเกินไปก็ขายไม่ได้ ทำช้าเกินไปก็ขายไม่ออก เรื่องเล็กๆ ถ้าไปทำเอิกเกริกก็จะขาดทุน เรื่องที่ควรตั้งใจทำหากทำไม่เอาจริงก็จะไม่ประสบความสำเร็จ.. ต้องรู้จังหวะ เร็ว ช้า หนัก เบา           นอกจากการรวบรวมคำสอนผ่านบันทึกความทรงจำที่เขียนแล้ว ยังมีคำสอนต่างๆ ผ่านคำบอกเล่าของพนักงานและคนใกล้ชิด เช่น เรื่องการดำเนินชีวิตว่า หนึ่ง..ต้องรู้จักรักตัวเอง เพราะจะทำให้ใฝ่หาแต่สิ่งดีๆ มาในชีวิต สอง..ต้องรักครอบครัว เพราะสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขที่สุดคือครอบครัว สาม..รักบริษัทหรือองค์กร และอีกหนึ่งที่คุณพ่อย้ำเสมอกับลูกน้อง คือ ให้รักประเทศชาติหรือที่เรียกว่ารักชุมชน ซึ่งหมายถึงคำว่าซีเอสอาร์ที่ใช้กันในยุคนี้           ทั้งที่มีโอกาสเรียนหนังสือน้อย เพราะเสียสละออกมาช่วยคุณปู่ทำงาน แต่คุณพ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก และเป็นนักคิด เข้าใจว่าหลายเรื่องจึงซึมซับจากการอ่าน บางอย่างได้จากการอ่านปรัชญาขงจื๊อ เล่าจื๊อ นำสิ่งที่อ่านมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงและนำมาสอน เวลาอ่านเจออะไรดีๆ ก็จะตัดแจกคนนั้นคนนี้ให้ช่วยกันเอาไปอ่านต่อ
          ในความทรงจำตั้งแต่เด็กๆ จะเห็นแต่ภาพคุณพ่อนั่งโต๊ะทำงาน อ่านหนังสือกับเขียนหนังสือ ท่านอ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หัดอ่านภาษาไทยเป็นก็เพราะค่อยๆ หัดแกะไปทีละตัวจากหนังสือพิมพ์ไทย
          อิทธิพลเรื่องวิธีคิดบวกของทายาททุกคนในเครือสหพัฒน์ยังมาจากวิธีคิดของ ดร.เทียม
          ความเป็นคนคิดบวกทำให้คุณพ่อมีกำลังใจ สามารถหาปรัชญาชีวิตให้ตัวเองมีความสุขได้เสมอ เวลาเจอปัญหาก็มองว่าช่วยฝึกความอดทน ถึงจะต้องแบกน้ำตาลหนัก 100 กิโล ก็มองว่าเป็นเรื่องโชคดีที่ทำให้มีสุขภาพแข็งแรงมาก คุณพ่อสามารถมองทุกอย่างเป็นบวกได้หมด ตั้งแต่เด็กจนโต คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยพูดเรื่องไม่ดีหรือว่าคนอื่นให้ลูกๆ ฟัง มีแต่จะสอนให้ได้ยินได้ฟังเฉพาะแต่เรื่องดีๆ คนดีๆ เรื่องความยุติธรรม ปลูกฝังพื้นฐานแต่ความคิดที่ดี           กว่าจะกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมด 1,600 หน้า รวมทั้งคำบอกเล่าต่างๆ ออกมาเป็นหนังสือทั้ง 10 เล่ม เป็นงานที่หนักและเหนื่อยที่ต้องใช้เวลาและความตั้งใจร่วมกับทีมงานไม่น้อย แต่เมื่อทำเสร็จแล้วถือเป็นบันทึกความทรงจำที่ทรงคุณค่า
          หลายเรื่องถือเป็นการส่งต่อมรดกความทรงจำของตระกูลแซ่ลี้ เช่น เรื่อง โหงวฮก การลำดับญาติของตระกูลลี้ เตี่ยชูเลี้ยว ซึ่งบรรพบุรุษตั้งชื่อไว้ 15 รุ่น ผ่านอักษรจีนที่เป็นมงคลชีวิต 15 คำ โดยต้นตระกูลแรก 5 รุ่น เสียง ซือ บ้วน ฮก เฮง มีความหมายว่า ทำดี คิดดี เป็นหมื่น วาสนา และโชค ตามลำดับ           อีก 5 รุ่นถัดมา คือ ซุ้ง เฮ่า อิ้ว เทียน ต๊ก อันมีความหมายรวมกันว่า บริสุทธิ์ กตัญญู มีเหตุผล
คือ ความซื่อตรงของสวรรค์ และลูกหลานอีก 5 รุ่นถัดมา คือ เอ่ง ยิก เทียม แซ เซ้ง รวมกันมีความหมายว่า ทำสิ่งที่สมควรทุกวัน บังเกิด และเพิ่มพูนความสำเร็จ คำเหล่านี้เป็นคำพูดดีๆ ที่บรรพบุรุษนำมาจัดลำดับชื่อรุ่นในตระกูล เพื่อเป็นกุศโลบายสอนให้ลูกหลานใฝ่ดี ทำแต่สิ่งที่ดีงาม
          รุ่นคุณพ่อเรียกว่า ฮก คุณพ่อมีพี่น้อง 5 คน จะชอบพูดเสมอว่าพี่น้อง 5 คนก็ คือ โหงวฮก หมายถึง 5 วาสนาที่มารวมกัน คุณพ่อเป็นคนรักพี่น้อง ธุรกิจที่คุณพ่อทำมา ลูกๆ ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่คุณพ่อแบ่งให้พี่น้องเท่ากันหมด
          ปรัชญาของ ดร.เทียม โชควัฒนา ยังมีอีกมากมาย แต่ปัจฉิมโอวาทสุดท้ายซึ่งถือเป็นมรดกคำสอนของตระกูล ที่มอบไว้ให้กับลูกหลาน คือ การยึดคติการดำเนินชีวิตที่ว่า ขยันอดทน ซื่อสัตย์สุจริต รักษาเครดิต ไม่สร้างศัตรู คบคนดี ไม่เอาเปรียบคน           ก่อนเสียชีวิตไม่นาน คุณพ่อมอบหมายให้ไปรวมพลลูกหลาน เรียกหลานๆ ทั้ง 17 คนมาทานข้าวร่วมกัน คุณพ่อกำชับให้ช่วยกันจำนะ ช่วยกันสอนลูกหลาน วิธีคิดเหล่านี้ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่คุณพ่อได้รับการปลูกฝังต่อมาจากคุณปู่ ไม่ว่าจะเป็นความขยัน อดทน และการเป็นคนรักษาเครดิต การคบคนดี และไม่สร้างศัตรู ไม่เอาเปรียบคน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คุณพ่อสืบทอดความคิดมา และส่งต่อมาให้พวกเรา จากรุ่นสู่รุ่น ศิรินา บอกเช่นนั้น
          จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ปรัชญาความสุข ความสำเร็จ และดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเหล่านี้ จึงยังเป็นมรดกคำสอนที่เหนือกาลเวลาและนำมาใช้ได้อย่างไม่ตกยุค

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก