วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คอลัมน์: My Way: นักออกแบบ(ชีวิต) อมตะ หลูไพบูลย์

คอลัมน์: My Way: นักออกแบบ(ชีวิต) อมตะ หลูไพบูลย์
         เรื่อง.. ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง

          ล้วงลึกตัวตนที่มากกว่าหนังโฆษณาและโปรไฟล์สุดเริ่ด สถาปนิกหนุ่มโสดวัย 42..โปรเจคแอมบาสเดอร์คนล่าสุด แคมเปญระดับโลก Keep Walking ของจอห์นนี่ วอล์กเกอร์
          อมตะ หลูไพบูลย์ ไม่ใช่แค่นักออกแบบมือรางวัล แต่เขายังเป็นนักออกแบบชีวิตที่ ชัดเจนกับเป้าหมาย ตั้งแต่ค้นหาตัวเองเจอสมัยเรียนหนังสือ      
 
  เป้าหมายผมคือเป็นสถาปนิกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรงหรือตัวเองช้าเกินไปที่จะทำสิ่งใหม่ๆ อมตะบอกเช่นนั้น           หลังจากเริ่มต้นชีวิตนักศึกษาครั้งแรกที่คณะวิศวะจุฬาฯ แต่แค่ปีแรกก็แน่ใจว่าไม่ใช่สิ่งที่รักและถนัด เขาตัดสินใจเลือกทางเดินใหม่ที่คิดว่าใช่มากกว่า ด้วยการเอนทรานซ์ใหม่เข้าคณะ สถาปัตย์ จุฬาฯ แม้ว่าทางบ้านจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเลือกแล้วเขามุ่งมั่นว่าต้องทำให้ดีที่สุด
          หลังคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทองของคณะ อมตะมุ่งมั่นบินไปเรียนต่อปริญญาโทอีก 2 ใบด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และการพัฒนาเมืองในประเทศกำลังพัฒนาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด           กลับมาเริ่มงานครั้งแรกที่เมืองไทยในวัย 25 ที่บริษัท Metric ซึ่งเป็นบริษัทของพ่อที่ร่วมก่อตั้งกับหุ้นส่วน ก่อนจะคว้าโอกาสแจ้งเกิดจากผลงานออกแบบโครงการใหญ่ชิ้นแรก ตอนอายุ 31 รีสอร์ทหรูระดับ 6 ดาว ศิลา เอวาซอน ไฮด์อะเวย์ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ซิกซ์เซนส์ ไฮด์อะเวย์ สมุย)
          สถาปนิกคนดัง ยอมรับว่า การแจ้งเกิดสร้างสรรค์ผลงานโครงการใหญ่ๆ ผูกไว้กับเงื่อนไขเงินลงทุนที่สูง ลำพังแค่เก่งหรือมีความสามารถอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยโอกาสก้าวในเส้นทางอาชีพด้วย
          ผมโชคดีที่โอกาสมาถึงขณะที่อายุยังไม่มาก ซิกซ์เซนส์ ไฮด์อะเวย์ สมุย ถือเป็นสเต็ปการก้าวที่สำคัญ แต่เชื่อเถอะความสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าคุณเริ่มต้นที่อายุเท่าไหร่ สถาปนิกใหญ่ๆ ของเมืองนอกบางคนเริ่มงานโครงการแรกตอนอายุ 50 ตอนนี้อายุเกือบ 70 คือพีคสุดๆ จะเริ่มที่ 30 หรือ 50 ไม่ใช่ปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่ได้โอกาสก็ทำให้สุดความสามารถแล้วกัน
          ถึงแม้โอกาสของคนเราจะไม่เท่ากัน แต่เราวิ่งหาโอกาสได้เสมอ ถ้าวันนี้โอกาสของคุณยังมาไม่ถึง ยังไม่มีใครรู้จักไม่เป็นไร หาเวทีประกวดซึ่งสมัยนี้มีมากมายทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ
          ถึงแม้บางโครงการอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่จะเป็นผลงานที่สะสมในพอร์ตโฟลิโอ บางคนถึงแม้เริ่มต้นจากรับงานเล็กๆ แต่ถ้าทำให้ดีๆ มีฝีมือ ถ่ายภาพสวยๆ ไปลงหนังสือ หาช่องทางประชาสัมพันธ์ผลงานไปเรื่อยๆ การสร้างโอกาสของแต่ละคนอาจจะต่างกัน เพียงแต่ว่าเราเลือกและทำหรือเปล่า หรือว่าเราจะใช้ชีวิตแบบไปเรื่อยๆ แล้วก็ผันตัวออกไปทำอะไรที่ก๊อกแก๊กลงไปเรื่อยๆ ทั้งที่ตัวเองเก่งมากเพราะคิดแต่ว่าไม่มีโอกาส ผมว่าทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เราเลือกว่าเราจะเป็นอะไร
          อมตะ เล่าว่า เขาเองเป็นคนหนึ่งที่เติบโตจากการประกวดและการท้าทายตัวเองมาทุกรูปแบบ           ตั้งแต่สมัยเรียน ผมเป็นคนตั้งใจเรียนชนิดบ้าเลือด ได้เกียรตินิยมเหรียญทอง ส่วนหนึ่งมาการปลูกฝังจากที่บ้าน คุณพ่อคุณแม่ผมมาจากครอบครัวที่ไม่มีอะไรเลย คุณปู่คุณย่านั่งเรือมาจากไหหลำ ผมเป็นคนจีนรุ่น 3 การที่เรามาจากการที่เราไม่มีอะไรเลยทำให้เรียนรู้ว่าเราต้องทำงานหนัก
          ขณะที่สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังจากคุณแม่ซึ่งเป็นตำนานพีอาร์รุ่นเก๋าวงการโรงแรม (พรศรี หลูไพบูลย์) คือคำว่า Beyond Expectation เติมเต็มให้เหนือความคาดหวังของลูกค้า
          บางวันผมทำงานเหมือนแท็กซี่ขับสองกะ เริ่มตี่สี่ครึ่งทำงานจนถึง 6 โมงครึ่ง 1 ทุ่ม เพราะฉะนั้นชีวิตมันไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่เราเลือกอยากจะทำให้เต็มที่ที่สุด...           อมตะ บอกว่า เขาอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่เชื่อว่าถ้าแข่งที่ความตั้งใจ เขาตั้งใจมากซึ่งสิ่งเหล่านี้ลูกค้าจะเห็นจากเวลาทำพรีเซนเทชั่นที่จัดเต็มจริงๆ และคิดงานออกมาอย่างสุดๆ
          พลังความมุ่งมั่น เป็นคำตอบหนึ่งที่ทำให้ ทศ จิราธิวัฒน์ พี่ชายใจดี เจ้าของโครงการหยิบยื่นโอกาสให้สถาปนิกหนุ่มวัย 29 ขณะนั้นออกแบบโครงการใหญ่ครั้งแรกในชีวิต มูลค่าก่อสร้าง 500 กว่าล้าน เบื้องหลังผลงานรีสอร์ทแรก ซิกซ์เซนส์ ไฮด์อะเวย์ สมุย คือ 4 ปีเต็มของการอัดพลังความทุ่มเท
          หลังจากแจ้งเกิดโครงการแรกที่คว้าทั้งรางวัลรีสอร์ทที่ดีที่สุดในโลกโดยนิตยสารคองเดอ นาสท์ ทราเวลเลอร์ และรางวัลดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ รีสอร์ทแห่งที่สอง ศาลา ภูเก็ต รีสอร์ท ก็ได้รับการหยิบยื่นโอกาสต่อมาโดยพี่ชายคนเดิม พร้อมๆ กับก้าวแรกของการออกไปเปิดบริษัท Department of Architecture ของตนเอง สร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย อาทิ อาคารซันวัน, ร้านอาหาร เซนส์, ล็อบบี้บาร์และร้านอาหารในโรงแรมฮิลตัน พัทยา ฯลฯ
          การออกแบบของเราแตกต่าง เพราะเวลาออกแบบเราจะไม่มีภาพอะไรอยู่ในหัวเลย ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการออกแบบจะมาจากเนื้อของแต่ละโครงการ เราตั้งใจจะไม่ให้มีลายเซ็นของเราอยู่ในรูปลักษณ์การออกแบบเด็ดขาด เพราะอยากให้ทุกโครงการมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนในแบบตัวเอง           อมตะเลือกออกแบบบริษัทที่มีขนาดไม่ใหญ่มีทีมงานสิบกว่าชีวิต เพื่อรักษาความสามารถในการเลือกรับโครงการ ไม่ยึดติดกับขนาดหรือมูลค่าโครงการใหญ่หรือเล็ก แต่เน้นที่โครงการที่มีความต้องการที่พิเศษ และเปิดกว้างกับการนำเสนอไอเดีย รวมถึงมีเวลาให้คิดงานและงบประมาณพอสมควร
          ข้อดีของการมีบริษัทไม่ใหญ่ คือ เราไม่จำเป็นต้องรับโปรเจคมากมายในเวลาเดียวกัน ทำงานที่อยากทำ ทำแค่พอดีๆ คิดงานให้ออกไปดีๆ ดีกว่า เงินไม่ใช่สิ่งเดียวที่สำคัญ ถึงจะหาเงินได้มากกว่านี้ร้อยเท่า คุณก็ยังกินข้าวแค่วันละ 3 มื้อ
          การมีความสุขในอาชีพสถาปนิกที่สามารถเลือกออกแบบชีวิตเองได้เป็นสิ่งที่อมตะอยากสร้างแรงบันดาลเล็กๆ ให้กับสถาปนิกรุ่นน้องๆ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดต่างๆ ในอาชีพ เช่น งบประมาณโครงการเมืองไทยที่เทียบไม่ได้เลยกับต่างประเทศ แต่ในแง่ไอเดียเราสามารถคิดงานดีๆ ได้ภายใต้โจทย์งบที่จำกัด
          สมัยก่อนผมได้ยินคนพูดให้ฟังเสมอว่า คุณจะสนุกกับการออกแบบแค่สมัยเรียนเท่านั้นแหละ พอจบออกไปแล้วก็ได้แต่ทำงานเดย์ทูเดย์ สิ่งที่เรียนมาไม่สามารถออกไปทำงานจริงได้หรอก ผมอยากเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าเรียนจบสถาปนิกแล้วคุณสามารถทำงานให้สนุกได้ไม่น้อยกว่าสมัยเรียนหนังสือเลย
          สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากถึงสถาปนิกรุ่นใหม่สมัยนี้ที่อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ใจร้อนจบใหม่ออกมาทำฟรีแลนซ์ อย่าคิดว่าเรียนจบสถาปัตย์มา ไม่ใช่จะเริ่มต้นบินเดี่ยวออกแบบได้ทันที คุณต้องสั่งสมองค์ความรู้ในบริษัทอย่างน้อย 3-4 ปี
          ผมไม่สนับสนุนการออกมาเป็นฟรีแลนซ์ทันทีคนเดียวเพราะคุณจะไม่ได้เรียนรู้จากคนอื่นเลย แรกๆ อาจจะคิดว่าได้เงินดีกว่าทำงานบริษัท แต่นั่นคือการมองแค่ในระยะสั้น ตรงข้ามกับถ้าคุณสั่งสมประสบการณ์จากบริษัทจนเก่งขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งออกมาเติบโตตั้งบริษัทเมื่อพร้อม ตัวเลขจะสูงกว่ากันมากในระยะยาว
          ท้ายที่สุดกับคำถามว่าอะไรคือโครงการในฝันบนเส้นทางอาชีพสถาปนิก ชายหนุ่มอมยิ้มบอกว่า วันหนึ่งถ้าผมมีเงินมากพอ ผมอยากทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุที่อยู่พื้นที่เดียวกับโรงเรียนอนุบาล อีกฝันหนึ่งบั้นปลายชีวิตคืออยากจะทำรีสอร์ทเล็กของตัวเองที่นั่งทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ริมทะเลหรือริมแม่น้ำ เข้าออฟฟิศแค่อาทิตย์ละไม่กี่วัน คิดว่าน่าจะเป็นชีวิตที่ดี--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก