วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เรียนรู้..ตั้งสติ ฝ่าวิกฤติน้ำ

เรียนรู้..ตั้งสติ ฝ่าวิกฤติน้ำ
          เรื่อง ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
          ภาพ กิตตินันท์ รอดสุพรรณ 
          วิ่ง ตามน้ำ และ หนีน้ำ กันมาพอหรือยัง? ในห้วงที่กรุงเทพฯกำลังโกลาหลกับภัยน้ำ นักวิชาการจุฬาฯ ด้านวิทยาศาสตร์ สื่อสารมวลชน และสังคมศาสตร์ ชวนตั้งหลักระดมปัญญา เปิดเสวนาโต๊ะกลมที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งคำถามชวนคิดถึงมุมอื่นๆ ที่สังคมต้องตั้งสติ เรียนรู้และปรับตัวร่วมกัน

          ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าในสถานการณ์ที่อะไรก็ดูจะฉุกเฉินและคับขัน ชวนให้สติแตกกันได้ง่ายถ้าไม่ตั้งหลักกันให้ทัน การตั้งหลักมีหลายระดับ ผู้ประสบภัยก็ต้องตั้งหลัก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็ต้องตั้งหลัก แต่ควรตั้งหลักได้ดีกว่านี้หรือไม่ ความรู้ที่มีมากมายได้ระดมเข้ามาจัดการวิกฤติขนาดไหน           เมื่อกลไกที่ควรจะเป็นที่พึ่งในแต่ละระดับพึ่งไม่ได้ ในสถานการณ์คับขันทุกคนจึงต้องพึ่งพาตัวเอง ขณะที่ความขัดแย้งในสังคมกลับขยายตัวขึ้น บางอย่างที่ไม่ควรเกิดก็เกิดเพราะขาดการจัดการ แม้กระทั่งการแย่งของไปแจกในพรรคการเมืองเดียวกัน
          นอกจากประเด็น ความขัดแย้ง ยังมี ความเสี่ยงภัย อันเนื่องมาจากผู้มีตำแหน่งความรับผิดชอบ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน ควรจะดูแลกันอย่างไร จะฝากฝังใครดูแลดี เพราะจะหวังแต่พึ่งการเมืองคงไม่ได้
          การแถลงข่าวในบางครั้งที่แย่งกันเอาหน้าทางการเมือง สุดท้ายสังคมเสี่ยงภัยเพราะไม่รู้จะเชื่อใครดี ...หรือแม้แต่ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากกระบวนการนโยบาย เช่น การที่เราไม่มีแผนที่พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเลย ถึงได้มีการตั้งนิคมฯในพื้นที่ที่เคยน้ำท่วมซึ่งมีแผนที่ประเทศไทยยืนยันมาตั้งแต่สมัยลาลูแบร์..
          อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ช่วยเปิดให้เห็นศักยภาพการเรียนรู้ของผู้คนหลายภาคส่วนที่เข้ามาทำงานอาสา แม้ว่าระบบใหญ่จะไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นบรรดาอาสาสมัคร องค์กรพัฒนาเอกชน ตลอดจนการเข้ามาช่วยบริหารศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยต่างๆ           เราได้เห็นความพยายามในจัดกระบวนการพึ่งพาตัวเอง เช่น การใช้สื่อใหม่แทนการพึ่งสื่อหลัก ยังมีหลายจังหวัดที่น้ำท่วมมาหลายเดือนแล้ว ยิ่งรู้สึกถูกทอดทิ้ง ผมคิดว่าสื่อบ้านเราก็ยังเป๋ไปเป๋มา ไม่ได้เป็นสื่อสาธารณะของประเทศ ดังนั้น ควรมีดุลยภาพระหว่างปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาการเตรียมการ ปัญหาการเฝ้าระวัง การฟื้นฟู
          อาจารย์สุริชัย มองด้วยว่า มหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมาเรายังอาจยังตั้งหลักไม่ดีเท่าที่ควร แต่ไม่สายเกินไปที่จะตั้งสติร่วมกัน ขณะนี้น้ำมาแล้วเราจะตั้งหลักร่วมกันยังไง จะประสานความรู้เพื่อลดความเสียหายร่วมกันอย่างไร           ขณะที่นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนคิดจากคำถามที่เริ่มได้ยินจากภาคประชาชนว่า น้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นข่าวระดับโลก ระดับประเทศ หรือเป็นข่าวของชุมชนกรุงเทพฯกันแน่ วันนี้เริ่มมีคนพูดว่ากรุงเทพฯควรต้องมีสื่อท้องถิ่นด้วย จะได้ไม่ไปแย่งพื้นที่ระดับประเทศที่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ควรผลักดัน
          ถ้าดูตามทีวี จะพบว่ามักเป็นการรายงานแบบเดินตามน้ำ ...แต่หากลองมองรอบด้านทั้งย้อนกลับไปพื้นที่ที่น้ำมาแล้ว และพื้นที่ที่น้ำยังไปไม่ถึง เราอาจเห็นภูมิพลังปัญญาที่มากขึ้น           นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน มองว่าแม้ภัยครั้งนี้จะมากับมวลน้ำ และมีการพยายามผลักดันให้วิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ โดยการอธิบายว่ามวลน้ำมหาศาล แต่สิ่งที่ประชาชนควรรู้ ก็คือ มวลน้ำเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่สภาพที่กลายมาเป็นภัยพิบัติมหาศาลมาจากจุดบกพร่องของมนุษย์ทุกระดับ แต่ระดับที่ต้องรับผิดชอบสูงสุด คือ ระดับที่มีทั้งอำนาจและศักยภาพที่ต้องบริหาร
          ครั้งนี้เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่ได้เกิดจากน้ำมือมนุษย์ในระยะยาวอย่างเดียว แต่เป็นภัยจากความบกพร่องของน้ำมือมนุษย์ในปัจจุบันด้วย สิ่งที่สื่อควรต้องอธิบายคือสถานการณ์บานปลายเพราะอะไร วิธีคิดในการรับภัยพิบัติเป็นอย่างไรและทำไมโหมดวิธีคิดถึงไม่เปลี่ยนให้ทัน ในเชิงการบริหารจำเป็นต้องหมุนให้ทัน การบริหารชุดความรู้ที่มีอยู่ในสังคม การระดมสรรพกำลังและปัญญา คำว่าบูรณาการของบ้านเราเหมือนใช้กันลอยๆ           อย่างไรก็ตาม หากมองในด้านบวกที่เกิดขึ้น มวลน้ำครั้งนี้ช่วยสั่นสะเทือนคำถามกับวิธีคิดของผู้คนในสังคม สะท้อนผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค เครือข่ายจิตอาสา การนำเสนอข่าวของสื่อ ที่เริ่มมีแนวโน้มการตั้งคำถามมากขึ้นว่าถึงเวลาหรือยังที่เราต้องเรียนรู้วิถีน้ำ และปรับตัววิถีคนให้สอดคล้อง สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั้งสังคม โดยเฉพาะภาคการสื่อสารต้องช่วยกันขับเคลื่อน ถอดบทเรียนสู่สังคม
          วิกฤติครั้งนี้ เราได้เห็นความพยายามปรับตัว สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เยอะมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พยายามนำความสามารถที่มีอยู่ไปใช้เป็นประโยชน์ บางคนเรียนออกแบบแฟชั่นดีไซน์ก็ออกไอเดียเย็บขวดเป็นชูชีพ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จะทำอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนพลังที่กระจัดกระจายเหล่านี้ให้พัฒนาต่อไป และให้สังคมได้เรียนรู้เพื่อก้าวข้ามไปอีกขั้น--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ: ,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก