วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สนธิกำลัง..เคลื่อนภารกิจ‘น้ำใจ’

สนธิกำลัง..เคลื่อนภารกิจ‘น้ำใจ’
    เรื่อง ...      ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง

          สิ่งดีๆ ที่มากับน้ำท่วม คือ การสนธิสรรพกำลัง ความสามารถและทรัพยากรจาก หลากหลายภาคส่วนเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย
         ไม่เว้นกระทั่งความร่วมมือระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำศูนย์การค้า และภาคเอกชนที่สร้างอีกหนึ่งปรากฏการณ์ใหม่ ผ่านโครงการ ONE HEART- รวมใจ ไทยช่วยกัน

 โดยมีอาคารเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ กองทัพอากาศ ดอนเมือง กลายเป็นอีกหนึ่งฐานที่มั่นของการระดมกำลัง ทำงานร่วมกันระหว่างกำลังพล แม่บ้านกองทัพอากาศ พนักงานเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป และอาสาภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการแพ็คถุงยังชีพ ทำเสื้อชูชีพจากขวดน้ำดื่มใช้บริจาคที่ได้รับบริจาคจากลูกค้า นอกจากนี้ยังมีโรงครัวเพื่อจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ประสบภัย เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครในพื้นที่อุทกภัย ซึ่งคาดว่าสถานการณ์อาจจะยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี โดย พลอากาศเอกอิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พร้อมหลังบ้าน นภาพร ศุภวงศ์ มาร่วมเป็นประธานเปิดโครงการร่วมกับผู้บริหารเดอะมอลล์ เมื่อวันก่อน
          “หลังจากสถานการณ์เริ่มรุนแรง นิคมฯ แตก น้ำทะลักท่วมสามพันกว่าโรงงาน คนตกงานเป็นแสน เราเริ่มไม่สบายใจแล้วว่าวิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่งแต่เป็นปัญหาประเทศชาติ  ไม่ใช่แค่ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การส่งออก ยังกระทบไปถึงการท่องเที่ยว การลงทุน แต่จะมัวนั่งเศร้านั่งเครียดทำไม ทำไมเราไม่ออกมาช่วยกัน” ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงแรงฮึดทำให้ 3 แม่ทัพหญิงเดอะมอลล์ แอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช, แดง-ลักขณา นะวิโรจน์ และติ๋ม-ศิริลักษณ์ ไม้ไทย เป็นตัวตั้งตัวตีกระโดดมาทำโครงการช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว นำความพร้อมและความสามารถของภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ผนึกกับกำลังความพร้อมของกองทัพอากาศ ที่มีทั้งสถานที่ กำลังพล ยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะทั้งทางบกและทางอากาศ ทำหน้าที่ลำเลียงส่งต่อความช่วยเหลือถึงผู้ประสบภัยต่อไป
          ผู้บริหารเดอะมอลล์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้แม้จะเคยร่วมบริจาคเงินสมทบทุนกับทางรัฐบาลไปแล้ว แต่วิกฤติที่ทวีความรุนแรง ทำให้เวลานี้บทบาทการเป็นผู้บริจาคอย่างเดียวคงไม่พอ ในเมื่อมีความพร้อมทุกๆ ด้านและเครือข่ายมากมายในธุรกิจที่ทำอยู่ ลงเงินอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว ถึงเวลาต้อง “ลงแรง” ด้วย เพื่อจัดการส่งตรงความช่วยเหลือได้อย่างตอบโจทย์และเข้าถึงผู้ประสบภัยจริงๆ สบายใจได้ว่าของบริจาคจะไม่กองพะเนินโดยไม่มีการจัดการ  โดยกลุ่มเดอะมอลล์ควักงบประมาณเอง 30 ล้านบาท ร่วมกับแรงสนับสนุนจากเครือข่ายภาคเอกชนมากกว่า 10 องค์กรทำให้ได้งบประมาณร่วม 50 ล้านบาท  ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ โดย ชาติศิริ โสภณพนิชเดินทางมามอบด้วยตัวเองในวันเปิดโครงการ เช่นเดียวกับ เครือสหพัฒน์ โดยบุญเกียรติ โชควัฒนา, ไทยน้ำทิพย์ โดย พรวุฒิ สารสิน, เบทาโกร โดย วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ เป็นต้น
          “การตั้งศูนย์คราวนี้ถือเป็นการที่ภาคเอกชนเรารวบรวมพันธมิตร และซัพพลายเออร์คู่ค้าต่างๆ เข้ามาช่วยกัน โดยเราจัดทีมงานเข้ามาทำงานรับผิดชอบในแต่ละสายโดยตรง  เช่น ด้านจัดซื้อ ด้านรถ ด้านธุรการ ล่าสุด ทีมงานของเราที่ทำด้านซีเอสอาร์อยู่แล้วก็โยกมาทำด้านนี้เลยเต็มตัว นอกจากนี้ยังมีฝ่ายบุคคล ฝ่ายการตลาดที่เข้ามาช่วยกัน รวมทั้งแบ่งกำลังคนสลับหมุนเวียนเข้ามาช่วยกันที่นี่ เพื่อส่งอาหารและถุงยังชีพออกไปช่วยเหลือวันประมาณ 1 พัน”          หากเข้าไปในห้องรับรองของศูนย์ที่นี่จะเห็นการขึ้นกระดานรายชื่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแบ่งงานระหว่างภาคเอกชนกับทหาร,บอร์ดรายงานบันทึกการบริจาคราย 10 วัน,ผังการผลิตถุงยังชีพในแต่ละวัน ข้อมูลความต้องการถุงยังชีพล่าสุด
          “ถ้าเราสามารถวิเคราะห์สถานการณ์แล้วปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์จะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายจึงค่อนข้างสำคัญ” ลักขณา นะวิโรจน์ หรือ “คุณแดง” เจ้าแม่ "กูร์เมต์ มาร์เก็ต"และ “โฮม เฟรช มาร์ท” สะใภ้กองทัพอากาศที่รับบทบาทหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ ประธานอำนวยศูนย์ฯ เล่าถึงการทำงาน โดยแต่ละวันจะมีการประเมินผลและวางแผนร่วมกับกองทัพอากาศ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น วันที่นิคมนวนครแตก น้ำทะลัก ก็ต้องปรับแผนใหม่ หันมาเร่งผลิตอาหารสดแทนการบรรจุถุงยังชีพ โดยในส่วนของโรงครัวลงทุนยกทีมจากโฮมเฟรชมาร์ทมาประจำการที่นี่ชั่วคราว ร่วมกับแม่บ้านทหารอากาศ ผลิตข้าวกล่องวันพันชุด เน้นอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย  และใช้ระบบแพ็คแบบสุญญากาศ กันน้ำเข้า
          นอกเหนือจากเรื่องอาหาร ครัวเคลื่อนที่ เสื้อชูชีพ และเรือแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือครอบคลุมทั้งห้องสุขาลอยน้ำของกองทัพอากาศ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตที่เดอะมอลล์ทุกสาขา รวมทั้งในเร็วๆ นี้เตรียมเปิดห้องเอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ,บางแคและงามวงศ์วาน เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาช่วยกันอาสาทำถุงยังชีพให้ทันกับความต้องการ ขณะที่เงินบริจาคน่าจะเป็นการช่วยเหลือที่สะดวกในการจัดการที่สุดในเวลานี้ เพราะส่วนหนึ่งจะได้นำไปช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลดซึ่งจะปรับเปลี่ยนภารกิจหันไปเน้นการบูรณะโรงเรียนและโรงพยาบาลต่างๆ           ขณะที่บอสใหญ่เดอะมอลล์ ศุภลักษณ์ อัมพุช ฝากแจ้งว่าตอนนี้เดอะมอลล์ทุกสาขายังมีความต้องการรับสมัครพนักงานใหม่อีก 600 อัตรา ใครที่ตกงานอยู่สามารถมายื่นใบสมัครได้
          “ภารกิจตั้งศูนย์ความช่วยเหลือที่นี่คาดว่าคงยาวไปอีก 2 -3 เดือนไปถึงปลายปี กว่าน้ำจะลดและต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกพักใหญ่”
          ศุภลักษณ์ มองว่า บทเรียนจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ คือ การวางแผนจัดการรับมือกับเรื่องน้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนระบายน้ำ การสร้างเขื่อน และปัญหาโลกร้อนที่กลายเป็นปัญหาของทุกคน
          “บทเรียนครั้งนี้คือเรื่องการวางแผนที่ต้องเป็นการวางแผนระยะยาว และการวางแผนควรต้องมองเป็น Worst case scenario หรือขั้นเลวร้ายสุดไว้ก่อน ไม่ใช่มองว่ามันไม่เกิดหรอก แต่ถ้ามันเกิดเราจะทำยังไง”
          พร้อมย้ำว่า หลังจากนี้คิดว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล นักการเมืองที่บริหารประเทศยุคเก่าหรือยุคใหม่ รวมถึงภาคราชการต้องมองเป็นมุมเดียวกัน ระดมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวางแผนอย่างเป็นระบบ รัฐบาลต้องประกาศว่าหลังจากนี้จะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีกหรือไม่ ไม่เช่นนั้นนักลงทุนอาจจะย้ายไปประเทศอื่น ขณะที่ทุกคนทุกภาคส่วนต้องเป็นหนึ่งเดียว ไม่แบ่งว่าเป็นฝ่ายใด 
          "สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้คือร่วมใจกันช่วยเหลือกันในยามที่เดือดร้อน เท่าที่ดูคิดว่าคนไทยยังมีน้ำใจ วิกฤติครั้งนี้จึงน่าจะผ่านพ้นไปได้"

         
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ: ,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก