วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โชคดี...ที่ยังมีน้ำ

โชคดี...ที่ยังมีน้ำ

          เรื่อง ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง 
          ในภาวะที่คนกรุงเทพฯหวั่นเกรงเรื่องน้ำประปาไม่สะอาด ผู้บริหารได้ออกมายืนยันถึงกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ พร้อมให้ความมั่นใจว่า น้ำประปาไม่มีปัญหา

          สู้กับน้ำว่าหนักแล้ว ยังมีมรสุมข่าวที่ท่วมทะลัก การประปานครหลวง ตั้งแต่ปัญหาน้ำท่วมคลองประปา ,ชาวบ้านลุกฮือรื้อคันกั้นน้ำ, สีและกลิ่นของน้ำที่ผิดเพี้ยน เพราะคุณภาพน้ำดิบ,ประกาศลดกำลังผลิตจ่ายน้ำฝั่งธนฯเช้า-เย็น ฯลฯ           เรื่องไหนๆ ก็คงไม่สร้างความวิตกกังวลให้กับคนกรุงเท่าคำถามว่า น้ำท่วมครั้งนี้จะวิกฤติถึงขั้นขาดน้ำกินน้ำใช้ในเมืองหลวงหรือไม่?
          น้ำประปายังดื่มได้
          ถึงแม้จะยืนยันหนักแน่นแค่ไหนว่า น้ำประปาดื่มได้ สอบผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก พร้อมเชิญทั้งกรมอนามัยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาช่วยตรวจสอบย้ำความมั่นใจ
          แต่สีและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของน้ำที่เปลี่ยนจากเดิมใสไร้สี กลายมาเป็นสีเหลือง อันเนื่องมาจากน้ำดิบคุณภาพต่ำที่ท่วมเข้ามาในคลองประปาฝั่งตะวันตก กระทบโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำหลายคนในย่านฝั่งธนฯ ขาดความมั่นใจ           อย่าว่าแต่ดื่มเลย แค่จะเอามาใช้ชำระล้างร่างกาย บางคนยังหวั่นๆ
          คนเรามักเชื่อจากสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา เชื่อว่าความสะอาดจากน้ำอยู่ที่ความใส ทั้งๆ ที่น้ำใสๆ บางทีอาจจะมีสารพิษหรือเชื้อโรคปนอยู่ โดยที่เราไม่รู้ เพราะมองไม่เห็นจงกลนี อาศุเวทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพน้ำ การประปานครหลวง (กปน.) เปิดประเด็นชวนคิด
          ความเคยชินของคนเมืองหลวงที่เคยใช้น้ำประปาใส ไร้สี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายคนยากจะทำใจยอมรับกับคุณภาพด้านกายภาพ (สี,กลิ่น,รส) ที่ด้อยลง แม้ว่าคุณภาพด้านความปลอดภัย ทั้งด้านเคมี ได้แก่ โลหะหนักปนเปื้อน และด้านชีวภาพ คือ เชื้อโรค จะอยู่ในมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค จนกระทั่งการประปาต้องออกโรงแนะนำว่า หากต้องการเพิ่มความมั่นใจแนะนำให้ต้มก่อนบริโภค           ผู้บริหารที่คร่ำหวอดด้านคุณภาพน้ำ ยืนยันว่า ถึงแม้การประปานครหลวงจะต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพน้ำดิบด้อยลง เนื่องจากน้ำที่ไหลหลากท่วมทะลักคลองประปาในบางพื้นที่ แต่ คุณภาพของน้ำดิบขณะนี้ยังไม่น่าวิตก ยืนยันว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำผิวดินประเภท 3 ที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปาได้อย่างปลอดภัย
          เพียงแค่กลิ่นและสีของน้ำดิบที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วม รวมทั้งปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำลดลง ทำให้การประปาต้องเพิ่มขั้นตอนพิเศษ เช่น เติมอากาศ ผงถ่านกัมมันต์ และด่างทับทิม เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและดูดซับสี กลิ่น ให้มีปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำมากขึ้น โดยกลิ่นและสีเหล่านี้เกิดจากน้ำที่ท่วมหลากทับถมต้นไม้ใบหญ้าที่เน่าเปื่อยเป็นส่วนใหญ่
          ขณะที่ความปฏิกูลของการขับถ่ายจากบ้านเรือนยังถือว่า เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำ
          คนสมัยโบราณจะใช้วิธีทำความสะอาดน้ำโดยใช้สารส้มแกว่งให้รวมตัวกับตะกอน จนน้ำใสแล้วเอาไปต้ม นำมาดื่มเพราะความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ แต่การผลิตน้ำประปาจำนวนมากถึงวันละ 5 ล้านคิว การฆ่าเชื้อโรคในน้ำปริมาณมากขนาดนี้ ต้องใช้คลอรีน เพราะมีคุณสมบัติคงอยู่ในน้ำได้
          ระบบประปาทั่วโลก ไม่ว่าจะฆ่าเชื้อด้วยโอโซน หรือยูวี จะต้องใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อเสมอ แต่ถ้าเป็นระบบน้ำแบบอื่น เช่น น้ำบรรจุขวด จะมีขวดช่วยป้องกันการปนเปื้อน ดังนั้น กลิ่นคลอรีนจึงหมายถึงความปลอดภัย ถ้ายังมีคลอรีนอยู่แสดงว่า เชื้อโรคตายหมด แต่ถ้าไม่มีแสดงว่าอาจจะยังทำปฏิกิริยาฆ่าเชื้อไม่หมด
          นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในช่วงนี้น้ำดิบคุณภาพลดลงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะต้นทางสถานีจ่ายน้ำ จึงอาจได้กลิ่นคลอรีนมากกว่าเดิม เพื่อความมั่นใจในการฆ่าเชื้อโรค โดยปริมาณการใช้ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากผู้ใช้น้ำไม่ชอบกลิ่น สามารถรองน้ำตั้งทิ้งไว้ในภาชนะที่มีฝาเปิดสัก 1 ชั่วโมง กลิ่นจะระเหยไปเอง
          ส่วนเรื่องสารปนเปื้อนที่หลายคนเป็นห่วง ในช่วงที่น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษได้สั่งการให้ย้ายสารเคมีออกไป หรือยกไว้ในที่สูง น้ำท่วมไม่ถึงตั้งแต่แรก จากการเก็บตัวอย่างน้ำ ผลวิเคราะห์โลหะหนักยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาได้ เราถึงยืนยันได้ว่าน้ำประปายังปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์องค์การอนามัยโลก
          การตรวจสอบคุณภาพจะมีทั้งด้านกายภาพ สี กลิ่น รส ส่วนด้านเคมี เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม และกลุ่มโลหะหนัก ปรอท แคดเมียม สังกะสี ทองแดง ส่วนด้านแบคทีเรีย เชื้ออี.โคไล พวกนี้เราตรวจทุกวันยังอยู่ในเกณฑ์ ผู้บริหารคนเดิมยืนยัน           ส่วนกรณีที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ต้องประกาศลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่ง จ่ายน้ำแค่ช่วงเช้า-เย็น ก่อนหน้านี้ เกิดจากปัญหาน้ำดิบที่คุณภาพลดลงในภาวะน้ำท่วม มีปริมาณสาหร่ายจำนวนมากเข้าไปอุดตันบ่อกรอง จนต้องล้างทำความสะอาดถี่ขึ้น ทำให้ต้องลดการผลิตน้ำประปาลงชั่วคราว ซึ่งขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว
          ความมั่นคงน้ำกิน-น้ำใช้
          ปัจจุบัน โรงงานผลิตน้ำบางเขน และโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ จัดเป็นหัวใจหลักในการผลิตน้ำของการประปานครหลวง ผลิตน้ำรวมกัน 4 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน ป้อนสู่พื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยโรงงานผลิตน้ำบางเขนตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ถนนประชาชื่น
          โรงผลิตน้ำที่นี่จะใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล ต.บ้านกระแชง อ.เมือง จ.ปทุมธานี โดยสูบน้ำส่งผ่านคลองประปามาถึงโรงงานผลิตน้ำบางเขนระยะทาง 18 ก.ม. และส่งต่อไปตามคลองประปาเลียบถนนประชาชื่น จนถึงโรงงานผลิตน้ำสามเสน ระยะทางรวม 30 ก.ม.
          ขณะที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ บริเวณถนนกาญจนาภิเษก(ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี)ใช้น้ำดิบจากเขื่อนแม่กลอง กาญจนบุรี เข้าคลองประปาฝั่งตะวันตกระยะทาง 106 กิโลเมตร ทำหน้าที่ผลิตน้ำประปาให้บริการในเขตพื้นที่ นนทบุรี ได้แก่ อ.เมืองนนทบุรี และปากเกร็ดฝั่งตะวันตก บางบัวทอง บางใหญ่ ไทรน้อย และบางกรวย ,พื้นที่สมุทรปราการ ได้แก่ อ.พระประแดงและพระสมุทรเจดีย์ฝั่งตะวันตก และพื้นที่พื้นที่ฝั่งธนบุรี ได้แก่ เขตธนบุรี คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ทวีวัฒนา บางพลัด หนองแขม ภาษีเจริญ ตากสิน บางบอน ทุ่งครุ จอมทอง ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน และตลิ่งชัน ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ คือ โรงงานผลิตน้ำทั้งสองแห่งจะผลิตน้ำได้ปลอดภัยแค่ไหน ?
          ถึงแม้ผู้บริหารการประปานครหลวงจะมั่นใจว่า สามารถดูแลจัดการปัญหาคุณภาพน้ำดิบ เพื่อนำมาผลิตน้ำประปาได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังมีปัญหาสถานการณ์น้ำล้นบริเวณคลองประปายังคงต้องเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา เช่น บริเวณช่วงวัดนาวง เขตหลักหก ปทุมธานี นอกจากนี้ ยังมีบางจุดที่มีน้ำล้นเข้าคลองประปาซึ่งได้มีการเสริมตลอดแนวคันคลอง           ขณะที่ประเด็นน่าเป็นห่วง คือ จิตสำนึกร่วมกันในการช่วยกันรักษาคุณภาพน้ำในคลองประปา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่ชาวบ้านย่านวัดนาวง เขตหลักหก ปทุมธานี เข้าไปรื้อคันกันน้ำเพื่อระบายน้ำที่ท่วมในพื้นที่ลงคลองประปา
          ประเด็นที่สำคัญคือ การมีสำนึกช่วยกันรักษาแหล่งน้ำดิบ อยากให้ผู้ที่อยู่ริมคลองปะปาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยรักษาคุณภาพน้ำในคลองประปาไม่สูบน้ำเสีย หรือผันน้ำเข้ามาในคลองประปา ในประเทศที่มีความศิวิไลซ์จะให้ความสำคัญของแหล่งน้ำเป็นอันดับหนึ่ง เพราะเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ต้องใช้ร่วมกัน จะต้องไม่ผันน้ำเข้ามา เพราะฉะนั้นประชาชนในหมู่บ้านใหญ่ๆ ริมคลองประปา ต้องเห็นความสำคัญของแหล่งน้ำดิบ           เสียงวอนขอความร่วมมือจากสองผู้บริหาร วิกรม สุวรรณชมภู ผู้ช่วยผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) และ รักษา กมลเวชช์ ที่ปรึกษากปน.ระดับ 9 ซึ่งร่วมกันให้ข้อมูลยืนยันถึงการดูแลความมั่นคงของการประปาในภาวะวิกฤติน้ำท่วม เพื่อไม่กระทบกับประชาชนผู้ใช้น้ำกว่า 10 ล้านคน
          มาตรการประกอบด้วย 3 ส่วน ป้องกันคลองประปา ป้องกันพื้นที่ของโรงงานผลิตน้ำ ซึ่งได้วางแนวป้องกันโรงงานผลิตน้ำบางเขนไว้หนาแน่น 3 ชั้นที่ระดับ 4 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และความมั่นคงของระบบผลิตว่า จะสามารถเดินเครื่องผลิตและสูบจ่ายน้ำได้อย่างไม่ขาดแคลน
          ในส่วนพื้นที่โรงงานผลิตน้ำ เราได้สร้างแนวป้องกันไว้ถึง 3 ชั้น เพื่อความมั่นใจว่าระบบการผลิตจะยั่งยืน รองรับได้กับวิกฤติน้ำ ซึ่งสถานการณ์น้ำที่คาดไว้คือ น่าจะสูงเข้ามาในพื้นที่ไม่เกิน 1 เมตร แต่ถึงแม้จะเกินมาตรฐาน เรายังมีมาตรการอื่นๆ รองรับ เช่น การเตรียมรถบรรทุกพร้อมเครื่องจักรกลหนัก เพื่อเสริมคันดินไว้ตลอดเวลา นอกจากนั้นในระบบการป้องกัน ยังมีระบบการระบายน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางพื้นที่ คอยช่วยสูบน้ำออกตลอดเวลา
          นอก
จากนี้ กปน. ยังมีระบบป้องกันความเสี่ยงการใช้กระแสไฟฟ้าในโรงงานผลิตน้ำบางเขน โดยรับกระแสไฟฟ้าจาก 2 แหล่ง กรณีแหล่งใดมีปัญหา ก็สามารถใช้อีกแหล่งทดแทนได้ทันที จึงมั่นใจว่าจะมีกระแสไฟฟ้ารองรับการผลิตจ่ายน้ำประปาได้อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนสบายใจได้
          ด้านการควบคุมคุณภาพน้ำ ได้มีการสำรองสารเคมีที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เช่น สารส้ม คลอรีน ถ่านกัมมันต์ รองรับไว้ 20-30 วัน ส่วนการสูบจ่ายน้ำก็มีความสำคัญ ในพื้นที่ต่างๆที่มีสถานีสูบน้ำ เราได้ทำแนวกันสำรองไว้และมีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชั่วโมง มั่นใจว่าจะทำการสูบจ่ายน้ำได้ตามปกติ
          อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทในสถานการณ์วิกฤติน้ำท่วม จึงแนะนำให้เตรียมพร้อมสำรองน้ำดื่มน้ำใช้ไว้ทุกบ้าน โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำในอาคารสูง
          วิกรม ผู้ช่วยผู้ว่าการประปานครหลวง มองว่า วิกฤติน้ำที่เผชิญครั้งนี้เป็นภาวะที่การประปายังไม่เคยประสบมาก่อน นับตั้งแต่ 97 ปีที่กิจการประปาเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯในปี 2485 ขณะนั้นปริมาณการใช้และจำนวนผู้ใช้น้ำยังไม่มากขนาดนี้ รวมถึงมีการพึ่งพาแหล่งน้ำคูคลองธรรมชาติจำนวนมาก           แม้ว่าโรงงานผลิตน้ำประปาจะมีการออกแบบเผื่อไว้ในเรื่องนี้แล้ว แต่สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย เพราะปริมาณน้ำท่วมที่ไหลบ่าเป็นมวลน้ำมหาศาล เทียบเท่ากับเขื่อนภูมิพลทั้งเขื่อน และได้พยายามควบคุมสถานการณ์เต็มที่สุดความสามารถ
          คำตอบเดียวเท่านั้นสำหรับการประปานครหลวงในเวลานี้ นั่นคือ โรงผลิตน้ำประปาของเมืองหลวงจะล่มไม่ได้!
          .............................................
          ไฟฟ้ายังไหวอยู่           ขอย้ำตัวโตๆ นะครับ เหตุผลเดียวที่เราจะตัดไฟ คือ เพื่อความปลอดภัยเท่านั้น จะไม่มีการตัดไฟจากกรณีไฟไม่พอ ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การไฟฟ้านครหลวง อาทร สินสวัสดิ์ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยืนยันอย่างหนักแน่น
          ในภาวะที่น้ำท่วมหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ กำลังพลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตัดไฟฟ้าของกฟน.ต้องทำงานหนักชนิดอดตาหลับขับตานอน เฝ้าระวังและดูแลเข้าไปตัดไฟในพื้นที่ที่น้ำท่วมสูงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ถ้าเป็นกรณีน้ำท่วมสูงเกินกว่า 1 เมตรเศษๆ ใกล้จะถึงระดับหม้อมิเตอร์บนเสาไฟฟ้า ผู้ว่าฯบอกว่า จะทำการตัดไฟทุกกรณี เพื่อความปลอดภัย
          อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่น้ำท่วมต่ำกว่า 1
เมตรใช่ว่าเราจะไม่ตัดไฟ แต่จะเข้าไปพิจารณาดูว่า มันจะเสี่ยง เกิดอันตรายกับชีวิตประชาชนหรือไม่ โดยเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นคือในหลายพื้นที่ประชาชนไม่ยอมให้ตัดไฟ เพราะต้องการใช้ไฟเพื่อสูบน้ำและในชีวิตประจำวัน ทั้งที่อาจจะมีโอกาสเสี่ยงภัยได้
          สำหรับมาตรการการป้องกันสถานีย่อยของกฟน.ทั้ง 150 สถานีจากน้ำท่วม ได้มีการสร้างแนวป้องกันทุกสถานีไว้แล้วอย่างแข็งแรงตั้งแต่ระดับความสูง 1-3 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาไฟดับ โดยไม่จำเป็น เพราะตระหนักดีกว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ไฟฟ้าที่จะจ่ายให้กับเครื่องสูบน้ำของกทม. ซึ่งจะต้องดันน้ำหรือสูบน้ำจากกทม.ออกไปสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
          เพราะฉะนั้นเครื่องปั๊มน้ำของกทม. 477 แห่งในพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง เราต้องเฝ้าระวังไม่ให้พื้นที่เหล่านั้นไฟดับเด็ดขาด ตรงนี้เราไม่ยอม เช่นเดียวกับการประปา ซึ่งเราจะมีไฟสำรองให้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกรณีแผนสำรองฉุกเฉินหากน้ำทะลักเข้าสถานีจนสถานีใดสถานีหนึ่งไฟดับ เราสามารถมีสถานีข้างเคียงช่วยจ่ายไฟทดแทนได้ทันที ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจเว่าเรามีไฟฟ้าเพียงพอกับการใช้งานแน่ๆ ตราบใดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังจ่ายไฟให้เรา ซึ่งตอนนี้ทางฝ่ายผลิตเองก็เฟิร์มมาก มั่นใจว่าไม่มีปัญหา           ผู้ว่ากฟน.ประเมินสถานการณ์จากนี้ว่า อย่างน้อยน้ำน่าจะท่วมกรุงเทพฯไปจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ สำหรับคนกรุงเทพฯที่ตัดสินใจปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสูง คงต้องทำใจยอมรับว่ากฟน.จำเป็นต้องตัดไฟเพื่อความปลอดภัย ต้องเตรียมพร้อมทั้งเรื่องแสงสว่างรวมถึงก๊าซหุงต้ม ซึ่งความเป็นอยู่อาจจะลำบากเหมือนติดเกาะ แนะนำว่าควรออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัย
          ขณะที่คนที่อยู่คอนโดฯสูงๆ ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพราะคอนโดฯหลายแห่ง มักจะเอาเครื่องอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าไว้ชั้นล่าง ดังนั้นเมื่อไหร่ที่น้ำท่วมชั้นล่าง คอนโดฯนั้นก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้           คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับเจ้าบ้านที่น้ำเริ่มท่วม ก็คือ หากสังเกตว่าระดับน้ำเริ่มสูงขึ้นจนเกือบจะถึงระดับปลั๊กในบ้าน ให้รีบดึงปลั๊กและยกเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่สูงพ้นน้ำ และหากจะอพยพออกจากบ้าน ต้องมีสติดึงสะพานไฟหรือคัทเอาทต์ลงทุกครั้ง--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ: ,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก