วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ดีที่ได้ทำ


โดย : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง

บางคนอาจเย้ยหยันการรวมตัวของผู้คนที่ออกไปทำความสะอาดกรุงเทพฯหรือการตั้งกลุ่มต่างๆที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในโซเชียลเน็ตเวิร์ค


บาง คนอาจเย้ยหยันว่า การรวมตัวของหนุ่มสาวที่ออกไปทำความสะอาดกรุงเทพฯงาน Big Cleaning Day หรือการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทั้งเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เป็นเพียงการ “แสดงออก” อย่างหนึ่งของชนชั้นกลางที่อัดอั้น  ถึงจะจุดติดเร็วแต่ก็วูบวาบดับลงได้ในเวลาสั้นๆ เช่นกัน ?
เราตั้งคำถามนี้กับ ปู-ชิดชนก ฌานคุปตรัตน์ และวี-วีรยา เจียรนัยพานิชย์ 2 สาวนักเคลื่อนไหว กลุ่มประเทศไทยกลับมาสดใส ดีกว่าเดิม ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับกิจกรรม “ชาวกรุงเทพฯรวมใจส่งยาส่งใจสู่ภาคใต้ชายแดน” ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
กลุ่มประเทศไทยกลับมาสดใส ดีกว่าเดิม” เป็นการรวมตัวตั้งกลุ่มบนเฟซบุ๊คจากคนกลุ่มเล็กๆ 5 คนที่เริ่มรู้จักกันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค ปัจจุบันมีสมาชิก 743 คน เริ่มต้นจากกิจกรรมส่งน้ำใจให้กับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบตั้งแต่ เดือนเมษายน กิจกรรมร่วมทำความสะอาดกรุงเทพฯ และออกร้านขายของเพื่อระดมเงินบริจาคในเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องมาสู่กิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคมอื่นๆ ผ่านการประชาสัมพันธ์บนเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และฟอร์เวิร์ดเมล์
“บางคนบอกว่าสถานการณ์มันจบแล้วจะออกมาทำอะไรอีก แต่สิ่งที่พวกเราทำไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องช่วยเหลือทหารหรือว่าใคร แต่อยากทำอะไรดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมมากกว่า”  ปู-ชิดชนก มองว่าปรากฏการณ์ที่หลายคนอยากลุกมาทำอะไรเพื่อสังคม ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวยหรือตามกระแส แม้ว่าความตื่นตัวของบางคนอาจลดไปบ้างตามสถานการณ์
ตัวอย่างเช่นกิจกรรมที่รับบริจาคความช่วยเหลือยาและเวชภัณฑ์ให้กับแพทย์ทหาร ที่จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จัดขึ้น ซึ่งไม่ใช่กระแสแต่ก็ยังมีน้ำใจคนไทยที่หลั่งไหลมา หลังจากทราบข่าวกันปากต่อปาก และผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค

สาวปูเห็นด้วยกับวี-วีรยา ที่สะท้อนความเห็นว่า จริงๆ แล้วประเด็นใหญ่อยู่ที่ว่า หลายคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นไม่รู้ว่าจะไปมีส่วนร่วมทำได้ที่ไหน มันไม่ใช่ความอัดอั้นเพียงแต่ในเมื่อไม่มีใครเริ่มเป็นเจ้าภาพ ก็เลยเริ่มต้นจากตัวเองจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน    
เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์คนมารวมกันตั้งกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยเกิดขึ้นเฟซบุ๊คมากมาย บางกลุ่มมีสมาชิกหลักร้อย หลักพัน
พวกเธอมองว่าพลังต่างๆ เหล่านี้ หากมีการประสานงานกันก็จะทำให้เกิดพลังที่มากพอที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมสร้าง สรรค์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งตอนนี้หลายกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาในเฟซบุ๊คก็มีการติดต่อประสานแลกเปลี่ยน กระจายข่าวสารและกิจกรรมกันหลายกลุ่มกลายเป็นเน็ตเวิร์คที่ไม่เล็กเลยที เดียว

แนวร่วมในกลุ่มเดียวกันอย่าง อดิสร เซียวโชลิต เจ้าของธุรกิจส่วนตัว และกนิษฐ์ ศรีสุวรรณ เจ้าหน้าที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งใช้เวลาวันหยุดมาร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมในกลุ่มซึ่งเน้นภารกิจช่วยเหลือ ปันน้ำใจให้กับสังคม เล่าว่าตอนนี้มีกลุ่มในเฟซบุ๊คประมาณ 40 กลุ่มที่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกัน โดยทั้งคู่ไม่ต่างจากปูและวี ซึ่งไม่เคยลุกออกมาเคลื่อนไหวกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างนี้มาก่อน
แต่วิกฤติการณ์ของบ้านเมืองครั้งนี้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ไม่อาจทำแค่เป็น คนดูอยู่เฉยๆ ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือใครอีกต่อไป
พวกเขามองว่า นี่อาจเป็นการเคลื่อนไหวแบบหนึ่งของ “ภาคประชาชน” ในยุคนี้ กนิษฐ์ บอกว่า “ผมรู้สึกว่าเราไม่อยากเอาแต่บ่นอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ และถึงเวลาที่ต้องออกมาทำอะไรด้วยตัวของเราเอง”
ความรู้สึกที่ว่าอยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนประเทศจึงเกิดขึ้น พวกเขาบอกว่า ถึงแม้มันอาจจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ไม่ใช่กระแสทอล์คออฟเดอะทาวน์ แต่ตอนนี้ ไฟในตัวของแต่ละคนจุดติดแล้ว ถึงมันจะเป็นดวงเล็ก ดวงน้อย ตอนนี้ขอให้ได้ทำและทำกันอย่างต่อเนื่อง…นั่นก็คือ “ดีที่ได้ทำ” แล้ว
—————————

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก