วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สายน้ำทุกสายมุ่งสู่ ‘ศิริราช’



โดย... ดุลยปวีณ  กรณฑ์แสง 
ทรงพระเจริญ..ทรงพระเจริญ..เสียงถวายพระพรจากลำเรือ588ลำดังกึกก้องทั่วลำน้ำ ..2 ทุ่ม 29 นาที ค่ำคืนวันที่ 5 ธันวาคม คนไทยจะสร้างประวัติศาสตร์



ถัดจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คลื่นพสกนิกรพร้อมใจสวมเสื้อสีเหลืองล้นถนนราชดำเนินในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีเมื่อปี 2549 หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาพคลื่นมหาชนหลายหมื่นพร้อมใจกันจุดเทียนชัยในขบวนเรือถวายพระพรกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ลอยลำเป็นขบวนยาว 3- 4 กิโลเมตรตั้งแต่สะพานพระราม 8 ไปจนถึงวัดอรุณฯ ในวันอาทิตย์นี้ จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนไทยแสดงออกถึงความรักที่มีต่อในหลวงให้เป็นที่ประจักษ์สู่ชาวโลก
  “งานนี้ยิ่งใหญ่และถือเป็นประวัติศาสตร์ เพราะการจัดถวายพระพรทางน้ำไม่ได้ทำง่ายๆ หากไม่ได้เกิดจากความพร้อมใจจริงๆของคนไทยที่อยากร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี”วิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี บอกเช่นนั้น
 นนทบุรีเป็นจังหวัดเล็กๆที่ครองแชมป์ขนพสกนิกรเข้าร่วมขบวนเรือถวายพระพรมากที่สุด1.2 หมื่นคนในปีนี้ และยังถือเป็นจังหวัดเดียวที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในการจัดขบวนเรือถวายพระพรเมื่องาน 5 ธันวาปีที่แล้ว โดยลำเลียงประชาชนกว่า 1.5 หมื่นคนขึ้นเรือ 137 ลำ แล่นตามกันเป็นขบวนจากท่าน้ำนนท์ ก่อนจะยกพลขึ้นฝั่งที่ท่าวาสุกรีและเทเวศร์ เดินเท้าต่อไปร่วมงานวันพ่อที่ลานพระบรมรูปทรงม้า


  “ปีที่แล้วเห็นว่าถ้าไปทางบกรถจะติดมาก นอกจากจะจัดคนไปทางรถ 2 หมื่นคนแล้ว อีกส่วนหนึ่งจึงใช้การเดินทางด้วยขบวนเรือ” ผู้ว่าฯวิเชียรเล่าถึงจุดเริ่มต้นขบวนเรือ“คนนนท์ เทิดทูนสถาบัน”เมื่อปีก่อน
  เขายังจำความรู้สึกในวันนั้นได้ดี ภาพคนในจังหวัดนับหมื่นสวมเสื้อลายธงชาติแบบเดียวกันขึ้นเรือ ในมือโบกธงชาติ ร่วมกันร้องเพลง ตะโกนเสียง“ทรงพระเจริญ”ดังกึกก้อง
 “ขากลับผมเป็นห่วงคนเฒ่าคนแก่อายุเยอะๆเพราะมันต้องเดินไกลเป็นกิโล จากท่าวาสุกรีถึงพระบรมรูปทรงม้า ถามคุณลุงคุณป้าเหนื่อยไหม?เขาบอก อู๊ย!ไม่เหนื่อยหรอก ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เข้ามาในเขตพระราชฐานจุดเทียนชัยถวายในหลวง”
 ปีนี้นนทบุรีส่งขบวนเรือเข้าร่วมทั้งหมด 140 ลำ แบ่งเป็นขบวนเรือประดับไฟเฉลิมพระเกียรติ 4 ลำร่วมกับเรือแท็กซี่พ่วงเรือเล็กประดับไฟอีก 9 ลำ และขบวนเรือประชาชน 127 ลำ
"เดิมเรามีขบวนเรือถึง 200 ลำ แต่เพื่อความปลอดภัย จึงเปลี่ยนมาเน้นใช้เรือใหญ่อย่างเช่นเรือของกฟผ.ที่จุได้ถึง 700 คนและเรือด่วนเจ้าพระยา ปีนี้เรือลำเล็กๆ เราไม่อยากให้ออกไปเพราะเกรงเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากเรือมันเยอะมากบางทีอาจจะมีคลื่นกระแทกกันได้ เลยขอให้จอดลำเล็กมาขึ้นเรือลำใหญ่แทน อย่างเรือหางยาวร่วมขบวนก็ต้องมีขนาด 50 ที่นั่งขึ้นไป”
  เรือทุกลำในขบวนจะต้องติดหมายเลข เริ่มออกจากท่าน้ำนนท์ ท่าน้ำปากเกร็ด และมาสมทบจัดขบวนกันที่ท่าน้ำกฟผ.บางกรวย เคลื่อนไปด้วยเป็นขบวน ทุกลำจะมีเจ้าหน้าที่ระดับปลัดอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นเช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านคอยกำกับดูแลมวลชนบนเรือ และประสานงานทางวิทยุรับคำสั่งจากเรืออำนวยการ โดยเรือลำใหญ่ๆ จะมีพยาบาลประจำเรือ นอกจากนี้ยังมีเรือตรวจการณ์และเรือพยาบาลร่วมขบวนไปด้วย
 “ขากลับตอนกลางคืนเรือของเราจะเปิดไฟหมดทุกลำ เคลื่อนกลับพร้อมกันเป็นขบวนนับร้อยลำซึ่งจะเป็นภาพที่สวยงามมาก”
  หนึ่งในไฮไลท์ของจังหวัด คือ เรือประดับไฟเฉลิมพระเกียรติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ซึ่งตกแต่งจำลองเขื่อนภูมิพลด้วยงบประมาณกว่า 1 ล้านบาท ขณะที่เรือประดับไฟของเทศบาลนครและองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีค่าจ้างออแกไนซ์ตกแต่งเรือร่วมๆ 8-9 แสนบาทต่อลำ ซึ่งแต่ละหน่วยงานควักงบประมาณกันเองเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ
   ส่วนขบวนเรือประชาชน แต่ละท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบจัดหา โดยเรือเอกชนบางลำเช่นเรือด่วนเจ้าพระยาก็ขอมีส่วนร่วมเทิดพระเกียรติด้วยสนับสนุนเรือส่วนหนึ่งโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
   “ปีนี้เนื่องจากเป็นงานใหญ่มีหลายจังหวัดเข้าร่วม จึงต้องระดมหาเรือกันไว้แต่เนิ่นๆ บริษัทเอกชนบางแห่งอยากทำเรือประดับไฟเข้าร่วมแต่ออแกไนซ์หาเช่าเรือไม่ได้ เพราะตอนนี้เรือค่อนข้างขาดตลาด”ผู้ว่าฯนนท์เล่า
  วรรธนพล ศักดิ์วรรธนชัย ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดนนทบุรี หนึ่งในฟันเฟืองประสานงานขบวนเรือถวายพระพรของจังหวัด เล่าว่า การจัดกิจกรรมบนบกกับน้ำมีความยุ่งยากต่างกัน ปีที่แล้วไม่มีอุบัติเหตุเลย แต่อาจมีความขลุกขลักบ้างเช่นวิทยุสื่อสารขาดการติดต่อ หรือจากประสบการณ์ที่ให้ขบวนเรือเล็กวิ่งตามเรือใหญ่ทำให้คลื่นกระแทกเรือ ปีนี้เลยต้องปรับใหม่ให้กลุ่มเรือลำเล็กเช่นเรือหางยาวนำหน้า และลำใหญ่คอยตามหลัง
  เบื้องต้นเรือประดับไฟจะเตรียมพร้อมลอยลำที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้าตั้งแต่ 11 โมง ส่วนขบวนเรือประชาชนจะทยอยออกเดินทางจากท่าน้ำนนท์ตั้งแต่บ่าย 3 โมง เพื่อรอให้เรือของกรมเจ้าท่าพาเข้าไปลอยลำประจำจุดในขบวนเรือใหญ่ 555 ลำ รอจุดเทียนชัยถวายพระพรในเวลา 20.29 น.

  เบ็ดเสร็จกว่าจะเคลื่อนขบวนเรือทุกลำกลับถึงเมืองนนท์น่าจะสักราวๆ 4-5 ทุ่ม เท่ากับวันนั้นประชาชนที่ไปร่วมถวายพระพรอาจจะต้องนั่งอยู่ในเรือที่ลอยลำนานถึง 8 ชั่วโมง

  “มันต้องใส่ใจทุกรายละเอียด อย่างเรือหางยาวต้องนั่งอยู่กับที่ ลุกเดินไปไหนไม่ได้ ไม่เหมือนเรือใหญ่ เราก็ต้องเตรียมประสานเรื่องคนที่จะลงเรือด้วย เด็กและคนชราควรจะต้องอยู่บนเรือแบบไหน เรื่องอาหารการกินจะจัดเตรียมยังไง หรือห้องน้ำสำหรับเรือเล็กที่ต้องลอยลำหลายชั่วโมง คุยกันเบื้องต้นว่าอาจจะจัดเรือสุขาเล็กลอยน้ำจากประสบการณ์ตอนน้ำท่วมไปคอยบริการ”วรรธนพลเล่า
  กว่าที่เรือนับร้อยๆ ลำจากหลายจังหวัดจะมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ครั้งนี้ จึงถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติซึ่งต้องมีประสานงานในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัด ไปจนถึงกระทรวง
  ในฐานะฟันเฟืองเล็กๆ คนหนึ่ง เจ้าหน้าที่จังหวัดคนเดิมมองว่า ไม่ว่างานนี้จะท้าทายแค่ไหน แต่เพื่อถวายในหลวงแล้วย่อมไม่มีอะไรหนักหนา เพราะจิตใจทุกคนมุ่งเป็นหนึ่งเดียวกัน
 จากวัดอรุณฯ..ถึงสะพานพระราม 8 
 วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม ลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานกรุงธนบุรีถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะเริ่มปิดการจราจรทางน้ำตั้งแต่เวลาเที่ยงสำหรับเรือเดินทะเล เรือบรรทุกสินค้า จากนั้นตั้งแต่บ่ายสามโมงจะปิดการจราจรเด็ดขาด ห้ามเรือทุกชนิดผ่าน
   เบื้องหลังการจัดจราจรทางน้ำเพื่อเปิดทางให้ขบวนเรือถวายพระพร 588 ลำ แบ่งเป็นขบวนเรือประดับไฟ 33 ลำ และขบวนเรือประชาชน 555 ลำ รวมมวลชนร่วมถวายพระพรในแม่น้ำทั้งหมดกว่า 3.2หมื่นคน มีหน่วยงานหลักอย่างกรมเจ้าท่าเป็นผู้รับบทใหญ่
   “ผมบอกได้เลยว่าครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งในชีวิตการทำงาน นอกเหนือเมื่อครั้งเอเปคและครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพยุหยาตราทางชลมารค ครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ปี 2525  การจัดระเบียบควบคุมการจราจรทางน้ำอย่างนี้ไม่เคยมีมาก่อน และขบวนเรือที่มีจำนวนคนนับหมื่นมาถวายพระพรในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบนี้ก็ยังไม่เคยมี ตั้งแต่ผมรับราชการมา 30 กว่าปี“ วีระศักดิ์ ตินโนเวช ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า เล่า
  ในวันนั้นการจัดขบวนเรือถวายพระพร หัวขบวนทางทิศเหนือจะตั้งต้นอยู่ที่สะพานพระราม 8 เรียงรายตลอดลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นช่วงหัวโค้ง ลอยลำต่อๆ กันไปจนสุดด้านทิศใต้ท้ายขบวนที่วัดอรุณฯ ระยะทางขบวนยาวประมาณ 3-4 กิโลเมตร ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้สุดสายตาจากมุมสูงของตึก รพ.ศิริราช  ส่วนเรืออื่นๆ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้จะต้องถอยร่นต่อท้ายแถวไกลออกไป
  “วันนั้นกระแสน้ำลง กรมเจ้าท่ายังได้ประสานกับกรมชลประทานให้ปล่อยน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้การไหลของกระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนั้นเบาที่สุด ”
  สำหรับขบวนเรือประชาชน 555 ลำที่ขนมวลชนมาร่วมถวายพระพรมาจาก 7 จังหวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ สมุทรปราการ 165 ลำ,นนทบุรี 127 ลำ,ปทุมธานี 241 ลำ,พระนครศรีอยุธยา 14 ลำ,อ่างทอง 4 ลำ,สิงห์บุรี 3 ลำ และกาญจนบุรี 1 ลำ  ซึ่งจะทยอยเข้าจุดตั้งแต่เวลา 17.00 น.จนถึง 18.30 น. เรือทุกลำจะประจำจุดเรียบร้อย
  ขณะที่ขบวนเรือไฟ 33 ลำจะมาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,การประปาส่วนภูมิภาค,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค,กรุงเทพมหานคร รวมทั้งจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดจากอีสานที่มีประเพณีไหลเรือไฟ อาทิ นครพนม มุกดาหาร หนองคาย โดยขบวนเรือไฟจะเริ่มเข้าจุดตั้งแต่เวลา 15.00-17.00 น. และจอดชิดริมสองฝั่งแม่น้ำเป็นแนวยาว ขณะที่เวทีการแสดงและจอม่านน้ำจะลอยน้ำอยู่บริเวณฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรงข้ามท่าศิริราช ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของลำน้ำ 
   “เรือทุกลำจะมีเจ้าหน้าที่คอยนำมาเข้าประจำจุด จากทางทั้งด้านเหนือ และด้านใต้ของแม่น้ำ พอเลิกขบวนแล้วเรือด้านท้ายจะเคลื่อนออกไปก่อน ส่วนเรือที่อยู่ตรงกลางด้านในจะต้องรอจนกว่าทั้งด้านเหนือและด้านใต้ออกจนหมด นั่นคือลำที่เข้าไปก่อนจะออกทีหลัง หลังจุดเทียนชัยเสร็จคาดว่าน่าจะสามารถเคลียร์ขบวนเรือทุกลำได้หมดเรียบร้อยภายในเวลา 4 ทุ่ม” ผู้บริหารกรมเจ้าท่าเล่า 
ประวัติศาสตร์เหนือลำน้ำ
 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถือเป็นจุดสำคัญสำหรับเวทีการแสดงหน้าม่านน้ำ รวมทั้งเป็นจุดรับรองแขกบุคคลสำคัญระดับวีไอพี 300 คน นำโดยนายกรัฐมนตรีซึ่งจะนำจุดเทียนชัยถวายพระพรบนเวทีกลางน้ำในเวลา 20.29 น. โดยการแสดงบนเวทีจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นเวลา 17.30 น. ไฮไลท์อยู่ที่การแสดงชุดแผ่นดินของเรา โดยจีเอ็มเอ็มแกรมมี่

 ภาพไฮไลท์ตระการตาที่จะเกิดขึ้นในช่วงจุดเทียนชัยถวายพระพรจะมีการปล่อยโคมลอยจากบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า ท่าพระจันทร์ และสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ลอยสว่างไสวทั่วท้องฟ้านับหมื่นดวง พร้อมกับการใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพไปยังสะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งจะมีการจุดพลุควันรับภาพเลเซอร์ฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมข้อความถวายพระพร “ทรงพระเจริญ” และการจุดพลุ 999 ดอกจากสะพานพระราม 8
   “ช่วงจุดเทียนชัยถวายพระพรจะเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าคอยชมแสงสีเสียงอันตระการตา โดยมีฉากบนสะพานพระปิ่นเกล้าเป็นไฮไลท์ภาพประวัติศาสตร์ พร้อมกับแสงสีของแม่น้ำ แสงสว่างจากขบวนเรือถวายพระพรสวยงามอลังการ”วินิจ เลิศรัตนชัย หัวเรือใหญ่เฟรชแอร์ ออแกไนเซอร์เบื้องหลังการจัดการแสดงแสงสีเสียง เล่า โดยในงานนี้ได้รวบรวมเทคโนโลยีทันสมัยสูงสุดที่สามารถหาได้ในตลาดโลกมารวมไว้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องฉายภาพกำลังแรงสูง HD ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เทคโนโลยีไลท์ติ้งที่ย้อมแม่น้ำให้กลายเป็นสีทองสว่างไสว ระบบแสงเสียงเลเซอร์ที่ช่วยให้ได้ภาพที่ดูแปลกตาออกไป
  วินิจ เผยว่า ล่าสุด ทางกูเกิลและซีเอ็นเอ็นได้ติดต่อประสานเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเข้ามาถ่ายทำ โดยกูเกิลจะใช้เครื่องร่อนขนาดเล็กชนิดไม่มีคนบังคับมาร่วมเก็บภาพประวัติศาสตร์จากมุมสูง นอกจากนี้ทางกินเนสบุ๊คก็สนใจเข้ามาบันทึกสถิติขบวนเรือที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก
   ถามถึงที่มาที่ไปไอเดียขบวนเรือถวายพระพรอย่างยิ่งใหญ่ครั้งนี้ วินิจ เล่าว่า
 “ไอเดียเรือมาจากคุณเนวิน ชิดชอบโดยตรงเลย ผมแค่เติมคำในช่องว่างแล้วก็สร้างจินตนาการตรงนี้ให้สมจริงมากที่สุดอย่างที่ท่านคิดมา เนื่องจากทุกปีงานจุดเทียนชัยถวายพระพรจะจัดที่ท้องสนามหลวง ขณะที่พระองค์ท่านประทับอยู่ที่ศิริราช ทุกคนจึงอยากมาถวายพระพรกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งการจะรวมผู้คนจำนวนมากขนาดนี้มาถวายพระพรได้อย่างพร้อมเพรียงหน้าศิริราช มีวิธีเดียวก็คือทางน้ำ”
 วินิจทิ้งท้ายว่า การรวมประชาชนจำนวนมากมาอยู่ในที่เดียวกันขนาดด้วยหัวใจของทุกคนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเปรียบเทียบมูลค่า และทำให้สายตาชาวโลกได้รับรู้อีกครั้งว่าพระมหากษัตริย์ของเราพระองค์นี้ทรงเป็น King of Kings ผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก