วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิมาน'ใกล้ฝั่ง'...ไม่หวังพึ่งใคร

          แก่แล้วตัวคนเดียวจะอยู่ที่ไหน..อยู่กับใคร..อยู่อย่างไรไม่ให้เป็นภาระ?
          “รุ่นน้อง”คนไหนที่หัวใจยังสับสน..ลองฟังคำแนะนำจาก“รุ่นพี่”ทั้งคนมีคู่และคนไร้คู่ที่ไม่คิดจะหวังพึ่งใครยามชรา           เผื่ออยากหิ้วกระเป๋าเข้ามาเป็น“น้องใหม่”ใต้ชายคา “สวางคนิเวศ เฟส 2” ที่เปิดรับสมัครคนวัยเดียวกันเข้ามาอยู่อีก 300 ยูนิต

          “ตึกใหม่ต้องก่อสร้างอีกเป็นปีถึงจะเข้าอยู่ได้ เราจะอยู่ถึงวันนั้นหรือเปล่ายังไม่รู้ ตอนนี้ผ่อนไปก่อนอีก 17 งวด ถ้าอยู่ไม่ถึงก็ถือว่าบริจาคให้สภากาชาดไป แม้แต่ร่างกายป้าก็บริจาคให้รพ.จุฬามาสิบกว่าปีแล้ว” ป้าน้อย- เรณู พัฒนาค หนึ่งในลูกบ้านวัย 76 ดั้นด้นมาจากศรีราชา เล่าอย่างอารมณ์ดี หลังจากเทียวยกหูมาไถ่ถามถึง 2-3 ปีว่าเมื่อไหร่ “สวางคนิเวศ” คอนโดผู้สูงอายุของสภากาชาดไทย จะเปิดเฟสใหม่
          ไม่ใช่แค่ป้าน้อยที่รอคอยโอกาสนี้มานาน แต่ยังมีผู้สนใจที่ขึ้นบัญชีเข้าคิวไว้อีกถึงราวๆ 600 คน หลังจากเปิดเฟสแรก 168 ยูนิต ปี 2539
          ในที่สุดสภากาชาดไทยจึงตัดสินใจทำโครงการส่วนต่อขยายเฟส 2 บนพื้นที่ติดกัน เป็นคอนโดมิเนียม 6 ชั้น 8 อาคาร จำนวน 300 ยูนิต พื้นที่โครงการ 23 ไร่ เพื่อเป็นต้นแบบโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ภายในห้องออกแบบให้มีสัญญาณฉุกเฉินบริเวณเตียงนอนและห้องน้ำ ,พื้นวัสดุที่ไม่ลื่น ไม่มีพื้นต่างระดับป้องกันการสะดุดล้ม เป็นต้น โดยตั้งอยู่ในสวางคนิวาสของสภากาชาดไทย ด้านหน้าติดถนนสุขุมวิทยาวลึกเข้าไปจรดป่าชายเลน บริเวณชายทะเลบางปู
          ป้าน้อยเล่าว่าตั้งใจอยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ เพราะเป็นคนรักอิสระ อยากใช้ชีวิตตามลำพัง เมื่อสามีเสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน ชีวิตก็ไม่มีอะไรให้ต้องห่วง เพราะไม่มีลูกด้วยกัน จริงๆแล้วชีวิตที่ศรีราชาของป้าใช่ว่าจะตัวคนเดียวไม่เหลือใคร ความเป็นคนอารมณ์ดีสนุกสนานทำให้ป้าน้อยเป็นที่รักใคร่ของคนรอบข้าง แถมยังมีแก๊งค์เพื่อนๆ กลุ่มใหญ่ที่ศรีราชา ชวนกันไปกิน ไปเที่ยว ไปทำบุญ มีนัดโต๊ะแชร์ร้องคาราโอเกะกันเป็นประจำ
          “แต่ละคน 'นางสาว' กันทั้งนั้น ไปไหนมาไหนไม่มีโซ่ล่ามคอ รุ่นเด็กที่สุดในกลุ่มก็อายุ 50-60 แล้ว ส่วนที่อายุมากกว่าฉันก็มี 2-3 คน บางคนเป็นเจ้าของปั๊ม เจ้าของร้านทอง บางคนยังอยู่เป็นโสด เขาไม่อยากแต่งงาน เพราะว่าครอบครัวคนจีนแต่งงานไปแล้วผู้หญิงต้องปรนนิบัติสามี สมัยนี้เขาคิดว่าหาเงินเองได้ ทำไมต้องไปรับใช้ใคร สู้มีชีวิตอิสระของตัวเองอยากไปเที่ยวไหนก็ไปมีความสุขกว่ากันเยอะ”          ถึงแม้จะพอมีฐานะ มีเงินเก็บ 4.5 ล้านบาท มีรายได้จากบ้านเช่าและคอนโดฯ มีลูกๆ ของสามีคอยให้การดูแล แต่โค้งสุดท้ายบั้นปลายชีวิต ป้าน้อยปรารถนาชีวิตง่ายๆ ที่ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่อยากมีห่วงหรือภาระใดๆอีกไป
          หากยังใช้ชีวิตอยู่บ้านที่ศรีราชา แต่ละเดือนป้าต้องจ้างคนใช้มาทำงานและอยู่เป็นเพื่อนเดือนละ 6,000 รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกจิปาถะไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000 เลยคิดย้ายมาอยู่ที่นี่ลำพัง อย่างน้อยค่าใช้จ่ายน่าจะประหยัดขึ้น แถมยังสบายใจว่าป่วยไข้ยังมีคนคอยดูแล และไม่เหงาเพราะเต็มไปด้วยเพื่อนวัยเดียวกัน
          นางสาวทั้งนั้น
          สังคมผู้สูงอายุในโครงการสวางคนิเวศ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนโสด และคู่สมรสที่ไม่มีบุตร หรือเป็นหม้าย นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีหัวคิดสมัยใหม่ ถึงจะมีครอบครัวแต่อยากมาอยู่เป็นส่วนตัว  ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน เพราะสามารถดูแลตัวเองได้ อยากมีชีวิตอิสระพึ่งพาตัวเองได้ ใช้ชีวิตที่เป็นตัวของตัวเอง 
          “อันดับหนึ่ง คือ สาวโสดที่ไม่มีครอบครัว อาจเป็นเพราะสังคมสมัยนี้ที่ผู้หญิงมุ่งมั่นกับทำแต่งาน พึ่งพาตัวเองได้ แต่ถึงจุดๆหนึ่งเมื่ออายุ 55-60 เริ่มคิดว่าจะเลือกใช้ชีวิตอยู่อย่างไร บางคนเป็น 'ลูกคนเดียว' คุณพ่อคุณแม่เสียแล้วที่บ้านก็ไม่มีใคร เลยคิดว่าน่าจะย้ายมาอยู่ในที่นี่ “ นภาพรรณ วิภาคพันธุ์ อนุกรรมการบริหารอาคารสวางคนิเวศ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูล
          ผู้พักอาศัยในโครงการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นกลาง หลายคนเป็นข้าราชการบำนาญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้มีเงินออมยามเกษียณ  หากคิดคำนวณคร่าวๆจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเดือนละ 2,500 บาท ยังไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ คำนวณคร่าวๆ ถ้าคิดที่ 4,000 บาท ค่าอาหารสั่งจากครัวกลางอีกราวๆ เดือนละ 4,500 บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนั้นคนที่อยู่ที่นี่ได้ต้องมีเงินใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่าหลักหมื่น
          หลายท่านที่อยู่ที่นี่ จะมี “จิตกุศล”ครบวงจร ชอบทำบุญ และหลายคนยังบริจาคร่างกายให้กับสภากาชาดไทย แต่ละคนจะมีประวัติการเจ็บป่วย รวมถึงกรณีฉุกเฉินว่าจะต้องติดต่อใคร หลายคนจะทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรไว้เลยว่า หากป่วยถึงวาระสุดท้าย ห้ามใส่ท่อ ห้ามเสียบ ห้ามเจาะคอใดๆ ทั้งสิ้น
          นภาพรรณ เล่าว่า คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ด้อยโอกาสทางการเงิน แต่ “ด้อยโอกาส” ในแง่ไม่มีใครดูแล เป็นช่องว่างทางสังคมที่ยังขาดการเติมเต็ม โครงการนี้จึงทำขึ้นเพื่อโปรเจคต้นแบบ จุดประกายภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่สนใจพัฒนาโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกที่มากขึ้น อย่างที่ผ่านมาก็มีศิริราช และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาศึกษาดูงาน
          “หลายคนแก่แล้วไม่อยากอยู่บ้านคนเดียว กังวลเรื่องความปลอดภัย หรือเจ็บไข้ขึ้นมาใครจะดูแลจะไปโรงพยาบาลยังไง หากเป็นอะไรไปคนเดียวในบ้าน ใครจะช่วยจัดการตามประเพณี มากกว่านั้น คือ ทุกคนยังอยากได้ความรู้สึกเหมือนใช้ชีวิต 'อยู่บ้าน' ไม่ใช่โรงพยาบาล หรือ สถานดูแลคนชรา เพราะถึงจะเกษียณแล้ว แต่หลายคนยังสดชื่น สดใส แอ็คทีฟ ยังมีชีวิตอีกยาวไกล จะให้อยู่แบบมองไปอีกตึกเห็นคนนอนป่วยเสียบท่ออยู่ มันคงเป็นความหดหู่ในชีวิต”          คุณสมบัติของผู้มีสิทธิต้อมีอายุตั้งแต่55ปี สามารถพักอยู่อาศัยได้ตลอดชีวิต โดยไม่สามารถสืบทอดสิทธิในการพักอาศัย ขนาดห้องพักเริ่มต้นที่ 42 ตร.ม.สนนราคามีตั้งแต่850,000 บาทไปถึงล้านเศษๆ มีให้เลือกแบบชั้นละ4 ยูนิต กับชั้นละ8 ยูนิต แบ่งชำระ18งวด ทำสัญญาจอง 50,000 และ ผ่อนชำระเป็นงวดๆละ40,000-50,000หมื่นบาท 
          หลังจากเปิดให้เข้าชมห้องตัวอย่าง และเปิดให้จองสิทธิโครงการเฟสใหม่ตั้งแต่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา
          โดยมีผู้สนใจเข้ามาจองสิทธิแล้วประมาณ 50 ราย ส่วนใหญ่เป็นคนมีความรู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไปจนถึงปริญญาเอก
          ในจำนวนนี้มีแก๊งเพื่อนสาววัยเกษียณที่มีจูงมือกันมา 4 คนขอจองยกทั้งฟลอร์ 4 ห้อง บางคนเป็นโสด บางคนผ่านการแต่งงานมาแล้ว เป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ต่างคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิต สุดท้ายต่างคนต่างตัวคนเดียว เลยชวนมาอยู่เป็นเพื่อนช่วยดูแลกันตอนแก่
          ที่สำคัญ ได้บรรยากาศย้อนวันวานเหมือนกลับมาอยู่หอพักกับเพื่อนๆ แถมยังเป็น “เฟรชชี่”ในวัย60 เมื่อเทียบกับพี่ใหญ่อายุมากที่สุดของโครงการวัย 90 ปี
          โสดอย่างมีสุข
          “ที่นี่ฉันไม่เคยได้ยินใครบ่นว่าเหงา เขาอาจจะรู้สึกแต่อาจจะไม่พูดหรือเปล่าฉันไม่รู้ ส่วนฉันเองไม่เหงา เพราะว่าในชีวิตเดินทางทำงานต่างประเทศคนเดียวมาเป็นสิบปี เหงาเป็นอย่างไรฉันไม่รู้ เพราะฉันก็มีทีวีดู มีสวนมีต้นไม้ให้ดูแลทุกวัน ”           คุณป้าสุรภา โรจนวิภาต วัย 81 ปี บอกเช่นนั้น
          คุณป้าถือเป็นสมาชิกคนแรกๆ ที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่สวางคนิเวศ ตั้งแต่สร้างเสร็จในเดือนพฤษาคม 2541 หรือ 13 ปีมาแล้ว สมัยแรกๆ ยังมีคนอยู่แค่ 5-6 ยูนิต สมัยสาวๆ คุณป้าเคยเป็นครู ก่อนจะผันตัวทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยให้กับหน่วยสันติภาพอเมริกัน และหน่วยสันติภาพให้ญี่ปุ่น ทำงานเก็บเงินสะสมฝากธนาคารไว้เรื่อยๆ มีรายได้จากดอกเบี้ย และรายได้จากห้องแถวให้เช่าอยู่โดยไม่เดือดร้อน 
          “ตัดสินใจมาอยู่ที่นี่เพราะเรารักที่จะอยู่คนเดียว เพราะชีวิตเราอยู่คนเดียวมานาน อีกอย่างคือเป็นโครงการของสภากาชาด และอยู่บนที่ดินบริจาคของมูลนิธิอื้อจือเหลียงที่เราศรัทธา อีกอย่างฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่แต่งงาน และที่นี่ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อยเลยที่เป็นคนโสดเหมือนกัน บางคนสามีเสียไปนานแล้ว ผู้ชายบางคนอายุ 40 ก็ตายแล้ว แม่หม้ายก็เยอะ”           วันนั้นคุณป้ายังมีเพื่อนๆ ที่มาเยี่ยมชมโครงการ สนใจอยากมาอยู่ด้วยกัน บรรยากาศเปิดจองเฟสสองวันแรกเป็นไปอย่างคึกคัก
          คุณป้าประเมินคร่าวๆว่า อยู่ที่นี่เดือนหนึ่งต้องมีเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท  เพราะเฉพาะค่าบริการส่วนกลางก็ประมาณ 2,000-3,000บาทแล้ว ยังไม่รวมค่ายา ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
          กิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่ของคุณป้าจะชอบลงสวน เก็บใบไม้ รดน้ำต้นไม้  พรวนดิน ไปซื้อดิน ซื้อปุ๋ยมาใส่ เก็บดอกมะลิ เก็บมามากก็แจกให้เพื่อนบ้าง  ดอกไม้ก็เอามาปักแจกันบ้าง  อ่านหนังสือ ดูทีวี อาทิตย์หนึ่งอาจจะออกไปข้างนอกบ้าง เช่น ไปชอปปิงแถวๆบิ๊กซี หรือไปกินอาหารอร่อยๆ ที่เซ็นทรัลบางนา
          “อยู่ที่นี่  สบายใจที่ความปลอดภัย และสงบมากๆ ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีลักขโมย ดีมากๆ”
          ตั้งแต่อยู่โครงการมา 13 ปี คุณป้าเล่าว่าเคยมีคนเสียชีวิตที่นี่แค่คนเดียว เมื่อหลายปีมาแล้ว 
          “วันหนึ่งตอนเช้าตื่นขึ้นมาพยาบาลไปเคาะห้อง ปรากฏว่าท่านนั่งเสียชีวิตไปเฉยๆบนเก้าอี้ นอกจากนี้มีอีกบางท่านที่ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนฉันถ้าเสียชีวิตแล้วคือบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาล มีหลายคนที่นี่บริจาคร่างให้รพ.จุฬาฯ เพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่”          ความสุข 66 ตร.ม.
          ใช่ว่าจะมีแต่คนโสดที่ย้ายมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ “สวางคนิเวศ” แต่ที่นี่ยังมีคู่หวานของประธานกรรมการผู้แทนผู้สูงอายุสวางคนิเวศอย่าง ณรงค์ ศรีวิเชียร และภรรยา-มาลี ศรีวิเชียร วัย 67 ปี
          6 ปีมาแล้วที่ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายมาใช้ชีวิตอยู่กันเองอย่างสงบสุขในบั้นปลายที่นี่ โดยฝ่ายชายเคยรับราชการและเป็นเจ้าของธุรกิจโครงการบ้านจัดสรรมาก่อน ส่วนฝ่ายหญิงเคยเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพญาไท
          ทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน บ้านหลังใหญ่ที่สร้างไว้ถึง 4-5 ห้องนอน ไปๆมาๆ กลายเป็นความเหนื่อยที่ต้องทำความสะอาดและดูแลรักษา ในที่สุดเลยตัดสินใจให้คนอื่นเช่า แล้วหันไปใช้ชีวิตอยู่คอนโดฯ ในเมือง แต่ความรู้สึกคือเดินออกมาแล้วชีวิตเงียบเหงาวังเวงมาก มีแต่คนหนุ่มสาวออกไปทำงานกันหมด ก่อนจะมาลงตัวที่โครงการสวางคนิเวศ
          “เราจองห้อง 33 ตร.ม. 2 ยูนิตติดกันเปิดทะลุ กั้นเป็นห้องนอนห้องหนึ่ง และห้องนั่งเล่นกินข้าวห้องหนึ่ง  เพราะในชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เราใช้ชีวิตกันก็มีเท่านี้  อยู่ที่นี่จะไปไหนก็สะดวกแค่ล็อคห้อง ขับรถไปเที่ยวได้ ไม่ต้องห่วงขโมยขึ้นบ้าน อากาศดี เดินออกกำลังกายได้สบาย สะดวกสบาย และสุขภาพจิตดีกว่ากันเยอะ          ที่นี่ต่างจากโครงการเอกชนตรงที่มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้ทุกปี เราจะมีรถจากรพ.จุฬาฯ รถฉายเอ๊กซเรย์ ตรวจลือด มาบริการให้ผู้สูงอายุ  แล้วก็ต่างตรงที่ว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยยังมีคนห่วงใยขึ้นมาดูถึงห้อง“
          ณรงค์บอกอีกว่า หลายคนเป็นข้าราชการบำนาญ และครูอาจารย์มีจำนวนมากที่สุด บางคนเป็นหมอเป็นพยาบาล ไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาพอเกษียณอายุก็เริ่มทยอยกันกลับมา
          "การอยู่ที่นี่เหมือนกับการมาทำบุญครั้งใหญ่ ทำบุญบริจาคเงิน ท่านมีสิทธิได้อยู่ตลอดชีวิต พอพ้นจากนั้นแล้วถ้าท่านสิ้นชีวิต ทุกอย่างก็เป็นของสภากาชาดไทย”           ณรงค์ประเมินว่า ผู้สูงอายุที่จะอยู่ในโครงการได้อย่างสบายๆ อย่างน้อยๆ ต้องมีฐานะรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท เป็นทางเลือกของคนมีฐานะที่สามารถจะจ่ายได้ในบั้นปลายชีวิต
          จะโสดหรือไม่? บั้นปลายชีวิตอาจไม่ต่างกัน ในยุคสังคมที่ต้องดูแลตัวเอง ไม่หวังพึ่งลูกหลานมาดูแลตอนแก่
          แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่อยากอยู่อย่างลำบาก ต้องรีบวางแผนออมเงินเนิ่นๆ เสียตั้งแต่วันนี้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก