วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

'ยังบลัด' พระปกเกล้า คอนเนคชั่นเพื่อสังคม


          เรื่อง  ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
          ถ้าอวสานคือการเริ่มต้น..คลิป อวสานแพลงกิ้ง ก็น่าจะเป็นมิติใหม่ของเครือข่ายผู้นำความคิดคลื่นลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นที่สถาบันพระปกเกล้า ในนาม ชมรมนักศึกษาผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 1 หรือ ปนป.1


          นอกจากคนดังอย่าง วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา, อั๋น-ภูวนาถ คุนผลิน, ฟลุ๊ค-เกริกพล มัสยวาณิช, มิ้นท์-อรรถวดี จิรมณีกุล, พชร ปัญญายงค์
          นักศึกษารุ่นแรก 120 คนยังคับคั่งไปด้วยผู้นำความคิดจากหลายแวดวงที่มีอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ทั้งแวดวงการเมือง อย่างอี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ, วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์, สกลธี ภัททิยะกุล และสรยุทธ เพ็ชรตระกูล พี่ใหญ่ที่รั้งตำแหน่งประธานรุ่น           ส่วนแวดวงธุรกิจ เช่น ธนา เธียรอัจฉริยะ,จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ,นิธิ เนื่องจำนง,ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา และอาชีพอื่นๆ ทั้งตุลาการ ตำรวจ สื่อมวลชน นักวิชาการ แม้แต่แอร์โฮสเตส นักสังคมสงเคราะห์ ร่วมด้วยบรรดาผู้นำนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬา,ธรรมศาสตร์,รามคำแหง ผู้นำนักศึกษามุสลิม
          พลังของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้นำมาสู่ไอเดียสร้างสรรค์แคมเปญปลุกพลังเงียบให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผ่านคลิปวีดิโอ อวสานแพลงกิ้ง (http://www.youtube.com/watch?v=Yo37rPGqF0E)สร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย
          วู้ดดี้ มิลินทจินดา ประชาสัมพันธ์ของรุ่น เล่าว่าโปรเจคนี้เป็นโปรเจคจิตอาสาสู่สาธารณชนครั้งแรกที่พวกเราอยากทำกันขึ้นเอง เมื่อมาเรียนหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ระบอบประชาธิปไตยร่วมกันแล้ว ก็ควรจะมีส่วนสร้างสรรค์เพื่อสังคม
          หน้าที่ขั้นพื้นฐานของคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย คือ ต้องไปเลือกตั้ง ถ้าคุณไม่สนใจ ไม่ไปทำหน้าที่ ไม่คิดว่าพลังของคุณมีส่วนเปลี่ยนสังคม แล้วมานั่งเบื่อ นั่งเซ็ง มันไม่มีประโยชน์
          เหตุผลที่เจียดคิวมาเรียนที่สถาบันพระปกเกล้าทุกสัปดาห์ วู้ดดี้บอกว่าเขาไม่ได้มาเพราะหวังคอนเนคชั่น แต่หวังจะได้บรรยากาศใหม่ๆ แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดที่แตกต่างจากคนรุ่นเดียวกันที่เป็นผู้นำจากสาขาต่างๆ
          หลักสูตรนี้ ไม่ใช่การนั่งเรียนแบบเก็บชั่วโมงฟังเลคเชอร์ แต่เป็นการโต้ตอบ ทำกิจกรรม แลกเปลี่ยนข้อมูล และเป็นการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ทั้ง 120 คนจากแต่ละวงการที่มีไฟ มีพลัง เมื่อมารวมตัวกันทำให้เกิดกลุ่มพลังบวกของคนรุ่นใหม่ ช่วยกันผลักดันประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าในระบอบประชาธิปไตย
          สอดคล้องกับเพื่อนร่วมรุ่น ปนป.1 รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคอนเนคชั่นหรือการมาเรียนเพื่อตัวเอง คือ การรวมกันเพื่อสร้างเครือข่ายพัฒนาประเทศ
          การรวมตัวของพวกเรา 120 คน ไม่ได้เรียนรู้แค่ตัวเราเท่านั้น แต่มีหน้าที่ต้องออกไปเผยแพร่ความรู้เรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยสู่แวดวงที่เราเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่นวิศวะลาดกระบังที่เราจัดงานร่วมกันกับ ปนป.1 บรรยายให้นักศึกษาหลายพันคนในหอประชุม ส่วนวู้ดดี้ทำงานสื่อก็ผลักดันเรื่องสื่อ
          ห้องเรียนใหม่ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างทั้งวัยและประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคณบดีมานั่งเรียนหนังสือร่วมชั้นกับนักศึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรีมาเรียนกับรุ่นหลาน แรกๆ คณบดีวัย 38 รศ.ดร.สุชัชชวีร์ ยอมรับว่าอดกังขาไม่ได้ว่าหลักสูตรนี้จะประสบความสำเร็จไหม แต่เมื่อมาเรียนจริงๆ ความแตกต่างไม่เพียงไม่ใช่ปัญหาแต่ยังจุดประกายมุมมองใหม่ๆ
          บางคนเด็กกว่าแต่มุมมองเขาโตกว่าที่เราคิด หลายคนทำให้ผมรู้สึกเซอร์ไพรส์ และประทับใจกับตัวอย่างของความมีจิตอาสา เสียสละ ทุ่มเท
          เพราะการผลักดันประเทศชาติในระบอบประชาธิปไตย จะหวังแค่สร้าง ผู้นำการเมือง อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องสร้างผู้นำที่ดี ทั้งผู้นำภาครัฐ เอกชน ผู้นำความคิด พลังคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นสภาพปัญหาบ้านเมืองและตระหนักว่าการเป็นผู้นำที่ดีเป็นอย่างไร
          ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เล่าถึงที่มาที่ไปของการริเริ่มหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยรุ่นที่ 1 (ปนป.1) ซึ่งนำคนวัยหนุ่มสาวตั้งแต่นักศึกษาจนถึงวัยทำงานมาเรียนร่วมกันในหลักสูตรที่ใช้เวลาราวๆ 5 เดือน           จุดมุ่งหมายหลัก คือ หนึ่ง..ต้องการให้คนเหล่านี้มีความรู้ที่กว้างขึ้นกว่างานที่ตัวทำ สอง..เมื่อมีความรู้แล้วต้องพัฒนาสู่ทักษะออกไปช่วยสังคม แทนที่จะเขียนเปเปอร์ส่งเหมือนหลักสูตรอื่นๆ หลักสูตรนี้เขาจะต้องคิดทำโครงการ ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาในชุมชน ฝึกฝนทักษะทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับประชาชน เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะมีการประกวดโครงการแข่งขันกันด้วย
          สาม..เราหวังว่าเมื่อเรียนจบแล้ว เขาจะมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากเดิม นอกจากงานที่ตัวเองทำแล้วยังมีความรับผิดชอบต่อสังคม สี่..สร้างเครือข่ายพลังคนหนุ่มสาวให้เกิดขึ้น ผ่านมา 4 เดือน ตอนนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นให้เห็นแล้ว จากการที่เขาใช้เครือข่ายให้เป็นประโยชน์ทำคลิปอวสานแพลงกิ้ง ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ที่สร้างอิมแพคต่อสังคม
          เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจว่าเกิดจากสำนึกด้วยตัวของพวกเขาเอง เมื่อมาเรียนและได้รับรู้ปัญหาของบ้านเมืองแล้ว อะไรคือสิ่งที่คุณจะใช้เครือข่ายที่มีทำประโยชน์เพื่อสังคม
          นักศึกษารุ่นแรก 120 ที่เข้ามาเรียนหลักสูตร มีทั้งคนที่รับการชักชวน เสนอชื่อ เช่น บรรดาผู้นำนักศึกษาไฟแรงที่เข้ามาช่วยเป็นตัวจุดไฟ และสร้างพลังร่วมกับรุ่นพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ และอีกส่วนหนึ่งมาจากบุคคลทั่วไปที่สนใจสมัครด้วยตัวเอง โดยจะมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่มีศักยภาพจากวงการต่างๆ โดยเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนปีละหนึ่งรุ่น รุ่นแรกจะจบการศึกษาในเดือนกันยายนนี้
          รุ่นแรกจบแล้วก็ต้องเป็นตัวอย่างและเข้ามาช่วยเหลือดูแลรุ่นน้อง ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นสร้างให้เป็นธรรมเนียม เครือข่ายนี้คุณรู้จักกันได้แต่ขอให้ยึดการทำประโยชน์เพื่อสังคมต้องมาก่อน เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ย้ำปิดท้าย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก