วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รอยเท้านักเดินทาง: ลาวใต้...หลายอารมณ์


          เรื่องและภาพ: ดุลยปวีณ กรณ์ฑ์แสง
          เรื่องราว ณ ดินแดนใต้สุด ไม่ได้มีแค่ มหานทีแห่งชีวิต น้ำตกคอนพะเพ็ง หลี่ผี หรือ ปราสาทวัดพู...
          แต่ยังมีความสุขจากการเมียงมองทำความรู้จักวิถีผู้คนในเมืองเล็กๆ ที่มีแม่น้ำโขงเป็นกระดูกสันหลังหล่อเลี้ยงชีวิต


          -1-
          หลายเมืองในโลกอาจเจริญด้วยเงินตราและวัตถุ แต่สำหรับความสบายใจแล้ว อาจเทียบกันไม่ติดกับรอยยิ้มและเสียงคุยจ้อของ ป้าบัวเรียน ชาวบ้านที่ เดือใต้ หมู่บ้านประมงริมแม่น้ำโขง
          "อยู่ที่นี่ ข้าวก็มี ปลาก็มี วัวก็มี ควายเราก็มีเอง บ่ต้องมีเงินหลาย..ไปอยู่ในเมือง มีแต่ซื้อตลาดลูกเดียว"
          ความคิดที่ว่า "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง" ทำให้ป้าบัวเรียนและหลายคนพอใจกับชีวิตง่ายๆ ในบ้านเกิดที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด
          ใครอยากมีเงินเหลือก็ต้องขยัน ใครขี้เกียจหน่อยก็ทำแค่พออยู่พอกิน เดินผ่านบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงหลายบ้านมีแหและเครื่องมือจับปลา ไหปลาแดกและจานดาวเทียม ทำนา ออกหาปลา ช่วยกันทำมาหากิน อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว
          อารมณ์ดี ยิ้มแย้มและเป็นมิตร เป็นความประทับใจที่พบได้รายทางในชนบทของลาว           ต่างจากในเมืองอย่าง ปากเซ พื้นที่ใจกลางการค้าอย่างตลาดดาวเรืองที่ผู้คนพลุกพล่าน หัวมุมถนนที่มีหนุ่มสาวทันสมัย พนักงานโรงแรมและร้านค้าที่แต่งตัวเนี้ยบ แต่ความเป็นมิตรของผู้คนอาจจะน้อยกว่า
          หมู่บ้านเดือใต้ เป็นวิถีชีวิตริมฝั่งโขงที่ "โรงแรมลอยน้ำ" พาเรามาเทียบท่าขึ้นฝั่ง หลังจากหลับเต็มตื่นมาทั้งคืนบนเรือไม้สองชั้นขนาดความยาว 33 เมตร กว้าง 7.5 เมตร ที่ปรับปรุงตกแต่งเป็นเรือสำราญวัดพู โรงแรมลอยน้ำที่มี 12 ห้องพัก มีห้องน้ำและแอร์ในตัว ห้องอาหาร บาร์เครื่องดื่มและสิ่งอำนวยความสะดวก
          ความสุขเคลื่อนที่ช้าด้วยความเร็ว 13 กิโลเมตร ในเครือแม่โขงครุยส์ (http://www.mekong-cruises.com/) ลำนี้ เปิดให้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่อยากเอนกาย พักใจ จิบชีวิตช้าๆ ชมวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขงมานับสิบปีแล้ว
          ความหมายของคำว่า มหานทีแห่งชีวิต แจ่มชัดขึ้นในความเงียบสงบของสายน้ำ ภาพวิถีชีวิตของชาวประมงคนแล้วคนเล่ากำลังวางตาข่ายดักปลา บางคนทอดแหบนเรือลำน้อยๆ           บางทีความสุขก็อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เรียบง่าย...แค่มีเวลาสูดลมหายใจแบบไม่เร่งรีบ อยู่นิ่งๆ หาเวลาอ้อยอิ่งกับชีวิตเงียบๆ ปล่อยใจไปกับสายน้ำ 
          -2-
          ย้อนเส้นทริปเดินทางล่องแม่น้ำโขงแบบขึ้นรถ-ลงเรือครั้งนี้ เราเริ่มออกเดินทางจากเมืองไทยโดยข้ามจากฝั่งไทยที่ด่านช่องเม็ก อุบลราชธานี ในช่วงเช้า โดยนั่งรถตู้จากด่านตรวจคนเข้าเมือง ข้ามสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น สู่ปากเซ เดินทางต่อด้วยรถบัส ออกจากตัวเมืองปากเซ ไปยังเกือบสุดชายแดนใต้ที่ "น้ำตกคอนพะเพ็ง" ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 148 กิโลเมตร นั่งหลับกันได้เต็มตื่น กว่าจะถึงจุดหมาย ไนแองการาแห่งเอเชีย ในเวลาพระอาทิตย์กำลังฉายแสงร้อนแรงบนหัว แข่งกับกระแสน้ำที่กราดเกรี้ยวทิ้งตัวลงบนโขดหินเสียงดังซู่ๆ
          ถ้าดูจากแผนที่จะเห็น น้ำตกคอนพะเพ็ง ตั้งอยู่ใกล้เขมรเพียงนิดเดียว เลยออกไปไม่ไกลจะถึงพรมแดนด่านดงกระลอ โดยมีจังหวัดสตึงแตรงเป็นประตูสู่เขมร           ออกจากคอนพะเพ็ง เต็มอิ่มกับอาหารมื้อเที่ยงซึ่งมีเมนูส้มตำ หรือตำบักหุ่งรสแซบ ได้เวลาลงเรือหางยาว ลอยลำต่อไปชมทัศนียภาพของมหานทีสี่พันดอน หมู่เกาะมากมายที่เรียงรายตลอดลำน้ำโขง มีดอนโขงเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดเป็นที่ตั้งของชุมชนแบบชนบท
          เราไม่ได้แวะดอนโขง แต่ไปอีกหนึ่งดอน คือ "ดอนคอน" นั่งรถสองแถวปุเลงๆ ตามรอยประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีน ย้อนเรื่องราวจากซากประวัติศาสตร์ของการก่อสร้างท่าเรือและทางรถไฟขึ้นที่ดอนคอนเพื่อขนถ่ายสินค้า จากเรือมาขึ้นรถไฟที่มีเส้นทางตัดจากหัวดอนไปท้ายดอน แล้วตัดข้ามแม่น้ำโขงจากดอนคอนไปยังอีกดอนหนึ่งชื่อดอนเดด เพื่อส่งสินค้าลงเรือ เป็นการเอาชนะธรรมชาติและแก้ปัญหาเกาะแก่งต่างๆ ที่ขวางอยู่ในแม่น้ำโขง
          ส่วนนักท่องเที่ยวที่อยากดูปลาโลมาน้ำจืด ก็สามารถลงเรือไปเที่ยวชมได้ที่หางคอน           ตั้งแต่ลาวเปิดประตูการท่องเที่ยว "อ้ายบุญเลียบ" ไกด์มืออาชีพประจำทริปเล่าว่า ทั้งดอนโขง และดอนคอน กลายเป็นเกาะแก่งแห่งการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์ชอบมาปลีกวิเวก ใช้ชีวิตติดเกาะกันที่นี่ จนมีเกสท์เฮ้าส์และโฮมสเตย์เล็กๆ เปิดขึ้นอย่างมากมาย มีร้านจักรยานให้เช่าขี่เที่ยวชมวิถีชีวิตชนบทริมน้ำ
          ดอนคอนยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกหลี่ผี หลี่ เป็นภาษาลาว หมายถึง เครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่งซึ่งชาวบ้านจะนำมาไว้ขวางเส้นทางน้ำหลากเพื่อดักปลา ส่วนคำว่าผี หมายถึงศพคนตาย ซึ่งบริเวณน้ำตกหลี่ผีจะมีกระแสน้ำไหลผ่านตามพื้นที่ราบผ่านแผ่นหิน
          ออกจากดอนคอน เรือหางยาวลำเดิมทำหน้าที่พาเราล่องแม่น้ำโขงยามพระอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า เพื่อไปขึ้นเรือสำราญวัดพูที่ลอยลำ และจอดค้างคืนแรกที่บ้านดง
        
  วันที่สองของการเดินทางผ่านลำน้ำ..มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านชาวประมง "เดือใต้" และล่องเรือต่อขึ้นฝั่งไปเดินเที่ยวชม "บ้านห้วยตาโม" และ "วัดอุมโมง" ชมซากปรักหักพังโบราณสถานยุคก่อนปราสาทหินวัดพู ค้างคืนบนเรือ           รุ่งเช้าอีกวันล่องเรือมายังเมืองเก่าจำปาสัก อดีตศูนย์กลางปกครองและเป็นที่ประทับของราชวงศ์ในสมัยที่มีเอกราช ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงบ้านสไตล์โคโลเนียลของเฮือนเจ้าบุญโฮม และบ้านไม้โบราณที่รับการอนุรักษ์
          ไฮไลต์ของการมาเยือนจำปาสักอยู่ที่การเดินไต่ระดับความสูงของภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นแหล่งอารยธรรมประวัติศาสตร์ "ปราสาทวัดพู" ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของลาวเดินชมจนเหงื่อชุ่มตัวแล้วค่อยลงเรือไปอาบน้ำ นอนเอกเขนกบนเรือให้เย็นใจ ก่อนจะได้เวลาเก็บกระเป๋าขนของอำลาวิมานลอยน้ำ นั่งรถจากจำปาสักกลับปากเซ ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง เพราะถนนตัดใหม่ที่เพิ่งก่อสร้าง ทำให้ร่นระยะเวลาและเดินทางสะดวกสบายขึ้นกว่าเก่า
          3
          กลับจากล่องโขงที่ใต้สุดเข้ามาที่เมืองท่าเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างแม่น้ำเซโดนที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง วันนี้ "ปากเซ" ประตูสู่แขวงจำปาสัก กลายเป็นเมืองหลักที่สำคัญซึ่งเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวเติบโตคึกคัก นอกจากโรงแรมใหญ่อย่างจำปาสัก แกรนด์ โฮเทล สัญลักษณ์ตึกสูงตั้งตระหง่านริมแม่น้ำ บอกให้รู้ว่ามาถึงปากเซ บริเวณสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่น ยังมีอาคารหรูหราโอ่อ่าสถาปัตยกรรมแบบยุโรปอีกหนึ่งที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างริมแม่น้ำโขง
          ว่ากันว่าที่นี่จะเป็นอาณาจักรธุรกิจครบวงจรแห่งใหม่ของกลุ่มดาวเรือง โดยได้แรงบันดาลใจบอร์โดซ์ เมืองไวน์ของฝรั่งเศส ต่อยอดจากธุรกิจร้านขายสินค้าปลอดภาษี ธุรกิจกาแฟ และตลาดดาวเรืองที่กุมบทบาทธุรกิจยักษ์ใหญ่อยู่ในลาว           มาถึงปากเซ สินค้าส่งออกที่กลายเป็นของฝากขึ้นชื่อที่รู้กันว่ามาถึงที่นี่ต้องลองลิ้มรส ก็คือ "กาแฟลาว" ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งปลูกกาแฟคุณภาพดีแห่งหนึ่งของโลก อยู่ที่บริเวณที่ราบสูง "บอละเวน" ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร และเป็นดินภูเขาไฟที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีเมืองปากซ่องเป็นศูนย์กลาง การปลูกกาแฟในลาวเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้นำกาแฟเข้ามาปลูกในยุคแรกๆ
          เส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และท่องเที่ยวเชิงเกษตรจากปากเซสู่ปากซ่อง ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวน้ำตก เที่ยวไร่กาแฟ ไร่ชา ผักผลไม้ปลอดสารพิษ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของทริปเที่ยวง่ายๆ แบบวันเดย์ทริปในลาวใต้ที่น่าสนใจ นอกจากเหนือจากเส้นทางลงใต้สัมผัสวิถีชีวิตริมโขงและมหานทีสี่พันดอน
          "อากาศที่นี่อุณหภูมิต่างจากปากเซ 5-7 องศา เพราะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร ที่นี่เคยทำสถิติหนาวที่สุด 2 องศา หนาวจนต้นกาแฟตาย" อ้ายบุญเลียบ เล่าระหว่างนำทางออกจากปากเซ ไปตามเส้นทางสู่ปากซ่อง เที่ยวน้ำตกตาดเยือง น้ำตกตาดฟาน น้ำตกคู่แฝดที่เกิดจากหินทรายตระการตา มีระดับน้ำตกสูงถึง 120 เมตร และเดินชมวิถีชีวิตยามเย็นตลาดท้องถิ่น นอกจากพืชผักและผลไม้นานาชนิด ยังมีแผงขายของป่าและสมุนไพรยาดองเหล้าที่เข้ากับอากาศเย็นบนที่ราบสูง เส้นทางท่องเที่ยวสายนี้ยังสามารถแวะไปเที่ยวอุทยานบาเจียง น้ำตาผาส้วม โครงการท่องเที่ยวธรรมชาติที่นักธุรกิจคนไทย "วิมล กิจบำรุง"เข้าไปบุกเบิก โดยมีทั้งร้านอหาร บ้านพักและพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าที่รวบรวมวิถีชีวิตชนเผ่าต่างๆ ไว้ให้ศึกษา เช่น เผ่าละแว เผ่ากะตู เผ่าแงะ ฯลฯ
          ก่อนออกจากปากเซกลับเข้าเมืองไทยที่ด่านของเม็ก ถ้าอยากเห็นวิถีชีวิตว่าของผู้คนกินอยู่อย่างไร ต้องแวะไปเดินตลาดดาวเรืองยามเช้าๆ ในตลาดใหญ่ที่คึกคักและเป็นศูนย์การค้าที่สำคัญของเมืองปากเซ ข้าวปลา อาหาร ผลิตผลการเกษตรนานาชนิดที่ยังคงความเอกลักษณ์ เดินดูกันจนเพลินตา สินค้าอย่างหนึ่งที่วางขายมากที่สุด นั่นคือ ปลาแม่น้ำโขง มีทั้งปลาเล็กปลาน้อย และปลาตัวใหญ่น้ำหนักตัวหนึ่งหลายกิโล ปลาตากแห้ง ปลาร้าที่มีหลากหลายชนิดให้เลือก อาหารตามท้องถิ่น กุ้ง หอย ปู ปลา ตลอดจนถึงนานาสิ่งมีชีวิตที่บ้านเราไม่มีโอกาสให้เห็นกันในตลาดสดต่างๆ รวมทั้งไก่ตัวเป็นๆ มาวางขาย
          นอกจากนี้ ยังมีแผงขายหมากพลูที่ขายดี ที่นี่ยังมีศูนย์อาหารขายอาหารจานเดียวอย่างเฝอที่มีให้เลือกหลากหลายเจ้า ราคาคิดเป็นเงินไทยชามละ 40 บาท           ไม่ไกลจากตลาดดาวเรือง ถ้าเดินทอดน่องไปเลียบตามแม่น้ำโขงย้อนไปทางแม่น้ำเซโดน จะเห็นสีสันอีกหนึ่งตลาดริมโขง เป็นตลาดขายหมูตัวเป็นๆ ที่แต่ละหมู่บ้านที่อยู่ไกลจากตัวเมืองออกไปจะรวบรวมหมูที่เลี้ยงมาขาย มีตั้งแต่ลูกหมูตัวเล็กๆ จนถึงตัวใหญ่ๆ ซื้อขายกันตัวเป็นๆ ส่งเสียงร้องอู๊ดๆ กันระงม เป็นอีกหนึ่งวิถีค้าขายแบบดั้งเดิมที่ยังพบได้ที่ปากเซ...เมืองเล็กในลาวใต้ที่มีหลากหลาย
          การเดินทาง
          การเดินทางสู่แขวงจำปาสัก เดินทางได้หลายวิธี ถ้าต้องการความรวดเร็วแต่ค่าใช้สูงหน่อย คือ นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ถึงสนามบินปากเซ โดยสายการบินลาวแอร์ไลน์
          นั่งเครื่องบินมาลงที่สนามบิน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเดินทางต่อไปยังด่านพรมแดนช่องเม็ก อ.สิรินธร เข้าสู่ประเทศลาวที่ด่านพรมแดนวังเต่า ไปตามทางหลวงหมายเลข 16 ระยะทาง 42 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำโขงที่สะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่นสู่เมืองปากเซ ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง โดยที่ด่านพรมแดนวังเต่าจะมีบริการรถยนต์รับจ้างไว้คอยบริการ
          ปัจจุบัน การเดินทางยังสะดวกด้วยรถโดยสารระหว่างประเทศ จากตัวเมืองอุบลราชธานี-ปากเซ ค่าโดยสาร 200 บาท สำหรับผู้ที่จะซื้อบัตรโดยสารได้จะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Border Pass) ซึ่งติดต่อขอทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวได้ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี หรือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บขส. อุบลราชธานี 0-4531-2773 และ ด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก โทร. 0-4548-5107

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก