วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คุณพ่อไฮสปีด ปฐม อินทโรดม

          เป็นคนพูดเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว โปรดปรานไลฟ์สไตล์ความเร็วอย่างการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ดูคาติ แต่สำหรับการเลี้ยงในโลกยุคความเร็วสูงบนถนนสายเทคโนโลยีและไอที ปฐม อินทโรดม หัวเรือใหญ่งาน คอมมาร์ต กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) แฟมิลี่แมนลูกสอง เชื่อว่า ไม่มีเทคโนโลยีไหนจะเสมือนจริงหรืออบอุ่นได้เท่ากับอ้อมแขนของพ่อแม่ที่อยู่ใกล้ชิดดูแลลูกๆ ด้วยตัวเอง
          ถ้าเป็นเรื่องลูกแล้ว ผมใช้เทคโนโลยีมาช่วยเลี้ยงลูกน้อยมาก ถึงแม้วันนี้เราอาจจะใช้วีดิโอคอนเฟอเรนซ์ หรือใช้ Face time คุยกันแบบเห็นหน้ากับลูกได้ แต่มันเทียบไม่ได้เลยกับการที่เรากลับบ้านไปหอมแก้มเขา ไปคุยเล่นกับเขา ส่วนตัวผมเป็นคนเชื่อในพื้นฐาน Human Touch ไม่มีอะไรทดแทนการสัมผัสจริง การพาลูกไปทำกิจกรรมด้วยกัน พาไปเที่ยวไปดูให้เห็นของจริงกับตา
          ทุกวันนี้ถึงงานผู้บริหารจะรัดตัวหรือมีเรื่องให้ต้องจัดการแบบ เรียลไทม์ แค่ไหน แต่คุณพ่อลูกสองคนนี้ยังต้องผลัดเวรกับภรรยาไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียนเองทุกวัน เขายังขอบคุณอานิสงส์ของการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งช่วยให้กระบวนการจัดการในบริษัทมีแบบแผนที่ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล ทำให้มีโอกาสอยู่กับลูกมากขึ้นในตอนเย็น
          เมื่อลูกเริ่มโต เราต้องรู้ว่าเราจะต้องทุ่มเทเวลาให้กับเขาเพราะวัยนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิต ถ้าเลยจากช่วงนี้ไปก็ป่วยการแล้ว ดังนั้นจะตกลงกับที่ทำงานว่า ถ้ากลับบ้านหมายถึงจะไม่ทำงานที่บ้านเลย ซึ่งที่ทำงานก็เข้าใจ           เด็กสมัยนี้เติบโตมากับยุคดิจิทัล เรียนรู้เร็วและมีสิ่งเร้ารอบตัวเยอะเท่าไร คนเป็นพ่อเป็นแม่ ยิ่งต้องตามให้ทันและมีส่วนร่วมกับลูกในทุกๆ เรื่อง ตอนนี้ลูกสาวคนโต น้องรินทร์ 9 ขวบอยู่ชั้นป.4 ลูกชายคนเล็ก น้องติณณ์ 7 ขวบ อยู่ชั้น ป.2 รั้วสาธิตเกษตร เวลาที่เห็นคุณพ่อพกพาอุปกรณ์ไอทีใหม่ๆ มาแปลกๆ มาทดลองใช้ที่บ้าน ถ้าเด็กๆ สนใจอยากรู้อยากลอง คุณพ่อไม่ปิดกั้น แต่จะอธิบายให้เข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทำอะไร จำเป็นแค่ไหน สอดคล้องกับชีวิตเราหรือไม่ ต้องใช้เหตุและผลมานั่งคุยด้วยกัน คำถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะให้ลูกใช้เทคโนโลยีตัวไหน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อเหมาะสมและจำเป็น เช่น ในวันที่จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารหรือนัดหมายเขาจะขออนุญาตพกโทรศัพท์ไปด้วย ตอนนี้ใช้สมาร์ทโฟนเป็นทั้งคู่ และใช้เก่งกว่าแม่ รู้ว่าทำอะไรได้บ้าง ต่ออินเทอร์เน็ตยังไง ดังนั้น พื้นฐานตัวแปรสำคัญที่ต้องเข้มงวดปลูกฝังกันมาตั้งแต่วัยเด็ก คือ การรักษาวินัย ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เขาใช้เทคโนโลยีมากเกินไปหรือออกนอกลู่นอกทาง
          เวลาเลี้ยงลูก จะมองว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีไอทีเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนสื่อตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะเขาจะเล่มเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ใช้เฟซบุ๊ค แต่ละวันเขาจะมีเวลาจำกัด x นาทีที่เขาจะต้องไปบริหารเวลาเอาเองกับการใช้สื่อต่างๆ เช่น ถ้าอยากเล่นเฟซบุ๊คมากขึ้นก็ต้องแบ่งเวลาที่จะดูการ์ตูน หรือสารคดีให้น้อยลง แต่ถ้าวันไหนที่เขาขยันตั้งใจทำแบบฝึกหัดหรือการบ้านที่ให้ทำเพิ่มเติม เราก็อาจจะให้เวลาส่วนนี้เพิ่มเพื่อเป็นตัวแปรรางวัล ตรงกันข้ามถ้าเขาผิดวินัยไม่ทำตามข้อตกลง ก็จะถูกลงโทษโดยสิ่งที่เคยได้รับจะต้องหายไป เช่น พรุ่งนี้ถูกงดทั้งวัน ไม่ให้เล่น ไม่ให้ใช้เลย แต่จะไม่เคยตี หรือลงโทษด้วยวิธีรุนแรง
          มีอุปกรณ์เทคโนโลยีจำเป็นอะไรบ้างที่คุณพ่อซึ่งทำงานคลุกคลีกับเทคโนโลยี ซื้อให้ลูก 9 ขวบ กับ 7 ขวบใช้ ?           ถ้าเป็นเรื่องของการเรียน ทั้งสองคนจะมีโน้ตบุ๊คเป็นของตัวเอง ซึ่งเขาต้องใช้ทำการบ้านไว้ค้นคว้าหาข้อมูล ซึ่งโรงเรียนสาธิตฯ จะมีกิจกรรมพวกนี้เยอะที่เด็กต้องค้นคว้าข้อมูลไปอภิปรายในกลุ่ม และถ้าเอาวันนี้เป็นเกณฑ์ อุปกรณ์ที่ตอบโจทย์เรื่องการศึกษาได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นแทบเล็ต ซึ่งทั้งคู่มีไอแพด เด็กวัยนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องเกม แต่เราก็จะสอดแทรกให้เขาเห็นว่ามันยังมีแอพพลิเคชั่นอื่นที่น่าสนใจด้วย
          ส่วนในอนาคตผมเชื่อว่ารูปแบบหนังสือจะกลายเป็นอีบุ๊คมากขึ้น ซึ่งเขาก็จะเริ่มสัมผัสตั้งแต่เด็ก และมีเรื่องของโซเชียลเน็ตเวิร์คที่เริ่มใช้บ้างแล้ว คนโตเริ่มใช้ตั้งตอน ป.2 ป.3 มีเฟซบุ๊ค แล้วก็สร้างบล็อก มีบล็อกของตัวเอง แล้วก็ทำแอนิเมชันง่ายๆ ขึ้นไปบนบล็อกของเขา           ถ้าเขาสนใจจะทำอะไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องไปคลุกคลีด้วย ถ้าเขาเล่นเกมอะไรเราก็จำเป็นที่จะต้องเล่นไปกับเขาด้วย จะได้รู้ว่าเกมนี้มีข้อดีข้อด้อยตรงไหนที่เราควรแนะนำ
          คุณพ่อปฐมแจกแจงให้ฟังเป็นข้อๆ ว่า เทคนิคเฉพาะตัวเวลาสอนลูกเรื่องการใช้เทคโนโลยี จะยึดหลัก 4 รู้ด้วยกัน
          รู้ที่หนึ่ง คือ รู้จักใช้ ด้วยความที่อาชีพของพ่อซึ่งทำงานด้านนี้ทำให้ต้องมีอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ ไปลองใช้ที่บ้าน ทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าไม่สอนให้รู้จักใช้ อะไรออกใหม่เขาจะอยากได้ของใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ถ้าสอนให้เขาแยกแยะได้ว่าอะไรคือเหมาะสมหรือจำเป็น อะไรที่พอสำหรับเขา จะช่วยแก้ปัญหาได้
          รู้ที่สอง คือ รู้จริง การจะให้ลูกใช้เทคโนโลยีตัวไหน พ่อแม่จำเป็นต้องไปคลุกคลีกับลูก รู้จริงว่ามันใช้ทำอะไรได้บ้าง
          รู้ที่สาม คือ รู้ทัน เช่น เรื่องความปลอดภัย ถ้ามีไอคอนแปลกๆ ต้องสอนลูกว่าอย่ากดโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ่มอะไร ส่วนพ่อแม่เองก็ต้องรู้เท่าทันลูก เช่น บางทีลูกบอกเข้าเฟซบุ๊คไปคุยกับอาจารย์ แต่เข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือเปล่า หรือถ้าลูกขอเงินไปซื้อไอพอดเล่มเกมดูหนัง พ่อแม่คงไม่ให้ แต่วันดีคืนดีของเงินไปซื้อไซเบอร์ดิกชั่นเนอรี่ พ่อแม่หลายคนโอเคซื้อให้ เพราะไม่รู้ว่าไซเบอร์ดิกทุกวันนี้มันสามารถเล่นเกม ดูหนังไม่ต่างจากไอพอด ดังนั้นต้องรู้ให้เท่าทันลูก รู้สุดท้าย คือ รู้จักใช้อย่างรับผิดชอบ
          ในช่วง 10 ปีมานี้ ปฐมยอมรับว่า ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีของสินค้าไอทีที่เปลี่ยนเร็ว แต่โลกและธุรกิจยังผันผวนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่มาเป็นร้อยปีวันหนึ่งก็อาจจะล้มหายไปเฉยๆ หากไม่มีการปรับตัวเท่าทัน ดังนั้นสิ่งที่สะท้อนกลับมาสู่ปรัชญาเลี้ยงลูกของเขา คือ พยายามสอนลูกให้เป็น เป็ด คือ รู้กว้างๆ หลากหลาย รอบด้าน ปรับตัวเท่าทัน เอาตัวรอดได้
          โลกหมุนเร็วขึ้น จังหวะชีวิตถูกทำให้เร็วตามขึ้นไปด้วยก็จริง แต่บางอย่างต้องดูด้วยว่าเราจำเป็นต้องไปเร็วตามจังหวะนั้นไหม ถ้าเราเท่าทันรู้จักใช้เทคโนโลยี เราจะหาจังหวะของเราเจอ และจะรู้ว่าจังหวะที่เหมาะกับเราอยู่ที่ตรงไหน           ความที่คลุกคลีทำงานด้านสื่อแวดวงเทคโนโลยีและไอที บางคนอาจคิดว่าเขาคงต้องบ้าเทคโนโลยีไม่น้อย เจ้าตัวยอมรับว่า ด้านหนึ่งเพราะเป็นอาชีพการงาน ยกตัวอย่างเฉลี่ยเดือนหนึ่งต้องทดลองใช้สมาร์ทโฟนไม่น้อยกว่า 5-6 เครื่อง มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ออกมาต้องเรียนรู้ แต่ไม่ได้ยึดติด วันหนึ่งถ้าไม่มีใช้ก็อยู่ได้ ทุกวันนี้เขายังเอ็นจอยกับจังหวะความเร็วของชีวิตในโลกธุรกิจ แต่ก็พยายามเบรกตัวเองโดยหันมาทดลองใช้ชีวิตแบบปิดอุปกรณ์สื่อสารเดือนละ 2-3 วัน เรียกว่าเป็นวันโฟนฟรีเดย์ บางครั้งการไม่มีอุปกรณ์สื่อสารพวกนี้ติดตัวให้ต้องคอยหยิบมาเช็คมาดู ไม่มีเรื่องมาสอดแทรกชีวิตผ่านอุปกรณ์สื่อสารดูบ้าง จะพบว่าเราจะมีสมาธิที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เช่น อ่านหนังสือ หรือดูสารคดีได้อย่างดื่มด่ำมากขึ้น รวมไปถึงหลายๆ เรื่องที่เคยคิดว่าสำคัญและเร่งด่วน เอาเข้าจริงๆ อาจรอได้เสมอ บางช่วงบางตอนชีวิตเราไม่จำเป็นต้องเรียลไทม์ในทุกๆ เรื่องบ้างก็ได้ ใครไม่เคยทำ เขาอยากแนะนำให้ลองดู
          "ถ้าเราเท่าทันรู้จักใช้เทคโนโลยี เราจะหาจังหวะของเราเจอ"--จบ--

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก