วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

'ปฏิบัติการทาร์ซาน' กู้ภัยป่าคอนกรีต

'ปฏิบัติการทาร์ซาน' กู้ภัยป่าคอนกรีต

         เรื่อง ... ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง
          ภาพ : สกล สนธิรัตน           
         
  จากผืนป่า “กรุงชิง” ถึงป่าคอนกรีต “กรุงเทพฯ” สัญชาตญาณนักถอดรหัสป่าแห่ง “เขาหลวง” เชื่อว่าภัยพิบัติธรรมชาติเพิ่งจะแค่เริ่มต้นนับหนึ่งเท่านั้น        

 “เมื่อต้นปีเราเพิ่งจะหยอกกันว่า ภัยพิบัติครั้งต่อไปจะไปกู้ที่ไหน ผมบอกว่ากรุงเทพฯ เตรียมตัวไว้เลย แล้วน้ำก็มาจริงๆ” นเรศ สุขรินทร์ นักเดินป่าเจ้าของฉายา ทาร์ซานบอย แห่งเขาหลวง เอ่ยให้ฟัง ระหว่างจากบ้านที่”เมืองคอน”นำทีมนักเดินป่าอาสากู้ภัยเดินลุยน้ำเน่า เสี่ยงไฟช็อตไฟรั่วในป่าคอนกรีตมานานร่วมครึ่งเดือน          หนุ่มนักเดินป่าคนนี้ เคยสร้างวีรกรรมแมนๆ โรยตัวโหนเชือกข้ามลำน้ำที่เชี่ยวกราก เดินเท้าปีนป่ายเข้าไปช่วยเหลือหมู่บ้านในหุบเขาซึ่งถูกตัดขาดเมื่อน้ำถล่มพื้นที่ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนกลายมาเป็นภาพนาทีชีวิตในนิทรรศภาพถ่าย”น้ำตา น้ำใต้ น้ำใจ”ที่ช่างภาพอาสากรุงชิงร่วมกับกลุ่มสห+ภาพ หาทุนฟื้นฟูชุมชนที่ได้ผลกระทบ           ก่อนจะสานต่อภารกิจนักเดินป่าอาสากู้ภัยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ในเดือนสิงหาคม ตามมาด้วยเหตุการณ์มหาอุทกภัยล่าสุดในมหานครเมืองหลวง
          “ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการอาสากู้ภัย ตั้งแต่เดือนมีนาคม เจอมาหลายเคสจนหมดเรี่ยวหมดแรง แต่นี่เพิ่งแค่นับหนึ่งนะ ผมคิดว่ารอบของธรรมชาติกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง และธรรมชาติของภัยพิบัติใหญ่ๆ ก็มักจะไม่เกิดซ้ำที่เดิม”          16 ปีของการคลุกคลีอยู่กับป่า นำพานักเดินป่ามากมายไปสัมผัสความมหัศจรรย์ของผืนป่าเขาหลวง ทาร์ซานบอย เชื่อว่า ทุกครั้งที่จะเกิดเหตุภัยพิบัติ มักจะมีรหัสธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า
          บางเรื่องอยู่เหนือเหตุผลจะอธิบาย แต่สัมผัสได้จากสัญชาตญาณแห่งป่า เช่นที่กรุงชิงเมื่อ 6 ปีก่อน เขาเคยพบความเปลี่ยนแปลงของป่าบนภูเขาแห่งหนึ่ง ไผ่บางชนิดล้มตายพร้อมกันทั้งหุบเขา           “ผมกากบาทในใจ เริ่มนับหนึ่งรอดูว่าในรอบ 10 ปีนี้จะต้องมีภัยธรรมชาติบางอย่างเกิดขึ้น”
          ปรากฎการณ์ธรรมชาติบางอย่างที่ผิดเพี้ยน เช่น อากาศหนาว และฝนตกในหน้าร้อน จึงไม่ใช่แค่เรื่องขำๆ ทุกอย่างล้วนเป็นรหัสธรรมชาติที่กำลังบอกอะไรบางอย่างกับเรา เพียงแต่จะสังเกตกันหรือไม่
          ปฏิบัติการ “รวมกันเมื่อภัยมา” ของกลุ่มนักเดินป่าอาสากู้ภัยกลุ่มเล็กๆ จึงก่อตัวขึ้น เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่ภารกิจที่ใหญ่โต แค่พยายามนำความสามารถที่มีอยู่มาช่วยเหลือใครสักคนให้คลายความทุกข์ การทำงานไม่ว่าจะช่วยคนหนึ่งคนหรือหมื่นคน ล้วนมีคุณค่าและความหมายไม่น้อยไปกว่ากัน           นักเดินป่าแค่ไม่กี่คน ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีรถ ไม่มีเรือ จะทำอะไรได้บ้าง เป็นข้อจำกัดที่พวกเขาเลือกจะก้าวข้าม เพราะถ้าไม่เริ่มนับหนึ่งก็จะไม่มีทางเริ่มต้น นาทีนี้ใครทำอะไรได้ทำเลย ทำตามกำลังเท่าที่มี ช่วยได้แค่ไหนทำไปก่อน
          ลูกบ้าเที่ยวล่าสุดของทีมนักเดินป่าอาสากู้ภัยเวอร์ชั่นบุกป่าคอนกรีต จึงเริ่มต้นจากคนแค่ 3 คน เงินทุนเพียง 3 พันบาท
          เริ่มจากการโบกรถและเดินดุ่มๆ ฝ่าน้ำระยะทางนับสิบกิโลเมตร เข้าไปสำรวจพื้นที่ สภาพปัญหา ความต้องการของผู้ประสบภัยในย่านกรุงเทพฯฝั่งตะวันตก เริ่มจากโครงการหมู่บ้านพฤกษาในย่านวัดแก้วอินทร์ที่บางใหญ่ ต่อเนื่องไปแถวคลองมหาสวัสดิ์ และพุทธมณฑลสาย 3 โดยตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่สมาคมชาวปักษ์ใต้ ถนนกาญจนาภิเษก           ควบคู่กับการตั้งกลุ่มติดต่อกันผ่านเฟซบุ๊ค เชื่อมโยงแนวร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เช่นกลุ่มสห+ภาพของจิระนันท์ พิตรปรีชา, กลุ่มช่างภาพ Foto For Friends เช่น สกล สนธิรัตน ที่เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่น้ำถล่มกรุงชิง นอกจากนี้ยังมี นิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น เพื่อนเดินป่าเจ้าของเว็บไซต์ trekkingthai.com ,เครือข่ายจิตอาสาและอาสาสมัครกู้ภัยอื่นๆ แบ่งหน้าที่กันทำงานทั้งทีมภาคสนามและทีมสนับสนุน
          “ถ้าคิดว่าจะช่วยแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอ อะไรที่ทำได้ทำไปก่อน เพราะภาครัฐก็มีเคสเยอะอยู่แล้ว และมองว่ามีเคสที่เร่งด่วนกว่า บางพื้นที่ที่อยู่ลึกๆ มีหมู่บ้านเยอะๆ จึงอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง ขณะที่ความช่วยเหลือจะมัวรอแต่ระบบหรือเซ็นอนุมัติอย่างเดียวไม่ได้           ในช่วงแรกๆ การทำงานของเราเน้นที่ภารกิจเข้าไปเพื่อสื่อสารมากกว่าช่วยเหลือ เริ่มจากมีแค่ยากับถุงยังชีพเล็กๆ แรกๆ ชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจ ทุกคนโมโห โกรธ ไม่สนว่าเราเป็นใคร คิดว่าเรามีหน้าที่ต้องให้อย่างเดียว เคยเอาถุงยังชีพเข้าไป 150 ชุด ชาวบ้านรุมเราว่าเขาไม่ได้ ผมสัญญาว่าจะเอามาให้อีกวันหลัง ผมออกมาควานหาใหม่เอาเข้าไปอีก 600 ชุด...
          บางคนเห็นชื่อทีมเราบนเสื้อ สงสัยว่านักเดินป่าเข้ามาทำอะไร ผมบอกเราเป็นแค่คนธรรมดารวมกลุ่มกันเอง เป็นห่วงเลยเข้ามาช่วย ไม่ได้เป็นองค์กรอะไร บางคนก็พูดคุยดี แต่บางคนก็ไม่ค่อยต้อนรับ สิ่งเดียวที่จะทำให้เขายอมรับเรา คือการพูดจริงทำจริง
          กฎการทำงานของทีมอาสาเรา คือใครก็ตามรับปากอะไรไว้กับชาวบ้านแล้ว ต้องทำให้ได้ เขาถึงจะให้ความเชื่อใจ”          ใบเบิกทางง่ายๆ ของการทำงานอาสาต่างถิ่น คือ การหยิบยื่นมิตรไมตรีด้วยยาแก้น้ำกัดเท้า ทำงานโดยเจาะเข้าไปประสานงานสร้างเครือข่ายกับคนในพื้นที่ บางที่หากไม่มีผู้นำชุมชน จะขอให้ช่วยกันรวมกลุ่มตั้งตัวแทน เพื่อสะดวกในการติดต่อประสานความช่วยเหลือ
          “สไตล์ของเราคือเดินทางเข้าไปเจาะข้อมูล ดูสถานการณ์ในพื้นที่ก่อน ศึกษาเส้นทาง และดูว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออะไร เพื่อกลับมาประสานเอาไปให้ เราเข้าไปหาเขาถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกไปดูว่าอยู่อย่างไร ครั้งที่สองหาสิ่งที่เขาต้องการเอาไปให้ และครั้งที่สามคือดูความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร เราอาจจะทำงานได้น้อยมาก แต่พื้นที่นั้นจะได้ความต้องการครบโดยที่เราไม่ทิ้งเขา”ทาร์ซานหนุ่มเล่าถึงรูปแบบการทำงาน
          พร้อมเสริมว่า วันแรกที่ลุยน้ำผจญป่าคอนกรีตทำเอาแทบสลบ เพราะน้ำพัดพาทั้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ มีทั้งสารพิษ ความสกปรกสูง ไม่เหมือนกับน้ำป่าธรรมชาติที่อย่างมากก็สกปรกแค่โคลน
          นั่นเป็นความแตกต่างหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลุยน้ำสกปรกเหล่านั้นเข้าไป เราก็อาจไม่รู้เลยว่าชาวบ้านอยู่กันอย่างไร
          “ผมมองว่าถ้าเราจะช่วยเขาจริงๆ ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดเรื่องการจะตัดสินใจชีวิตแทนผู้อื่น คุณควรเข้าใไปอยู่ในสภาพเดียวกับเขา เข้าไปเห็นว่าเขาอยู่กันยังไง เจอกับอะไร แล้วค่อยสรุปว่าเขาควรย้ายจากบ้านไปอยู่ศูนย์อพยพ ไม่อย่างนั้นเราอาจเข้าใจผิดในความต้องการ
          ผมคิดว่า บางคนยอมตายที่บ้านมากกว่าที่ศูนย์อพยพ เพราะคนเราไม่ได้อยู่แค่การมีชีวิตอย่างเดียว แต่อยู่ด้วยอะไรบางอย่างที่มีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นข้าวของ ทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้านั่นคือทั้งชีวิตของเขา ลองถามซิว่าเป็นคุณจะอยากออกจากบ้านคุณมั้ย ถ้าต้องทิ้งทุกอย่างแล้วไปหาเส้นทางใหม่เอาข้างหน้าโดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตคืออะไร          ผมเคยเจอคุณป้าคนหนึ่งที่ไม่ยอมอพยพ ป้าบอกว่าทั้งชีวิตเขามีแค่บ้านหลังนี้ คงไม่ไปหรอก โอเคงั้นเดี๋ยวเจอกันใหม่ป้า ผมมองว่าหลังจากนั้นป้าอาจจะตาย แต่นั่นเป็นการจากลาที่ดี ดีกว่าผมส่งป้าไปอยู่ไหนก็ไม่รู้ ซึ่งไม่ใช่ความปรารถนาของเขา”
          ทาร์ซานบอยสะท้อนมุมมองว่า ในต่างประเทศ ประชาชนค่อนข้างเชื่อมั่นในระบบเตือนภัยและหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ เมื่อบอกให้อพยพหมายถึงมีระบบรองรับ แต่ประเทศเรายังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับเรื่องนี้ บางทีถ้ารู้ข้อมูลว่าน้ำจะท่วมมิดหัวการตัดสินใจของบางคนอาจจะเปลี่ยนไปคนละแบบ
          แต่ถึงต่อให้จะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายอย่างไรก็ควรต้องให้สิทธิผู้ประสบภัยตัดสินใจชีวิตของตัวเอง และถึงแม้ว่าเขาจะร้องขอให้เข้าไปช่วยอพยพภายหลัง อาสาคนเดิมมองว่านั่นถือเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ
          นอกเหนือจากอุปสรรคกวนใจเรื่องมลพิษของน้ำ ความแตกต่างของการทำงานของนักเดินป่าในเมืองคือข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกับการลุยป่า
          “ถ้าเป็นในป่า เราเดินตัดป่าได้ ข้ามไปได้ทุกที่ แต่ในเมือง เราปืนกำแพงบ้านเขาไม่ได้ ว่ายน้ำผ่านหลังคาบ้านเขาไม่ได้ เราต้องไปตามซอยหมู่บ้านที่มีทั้งอันตรายจากไฟฟ้า อันตรายจากสิ่งที่เราไม่รู้จัก อันตรายจากสารพิษ”          นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของทัศนคติและระบบต่างๆ ในสังคมที่ไม่เอื้อกับการทำงานของอาสา การเข้าถึงการสนับสนุนยังต้องอาศัยคอนเนคชั่นเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่หลายองค์กรหลายมูลนิธิทำงานอาสาในเชิงประชาสัมพันธ์ ในเชิงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร ผู้ให้การสนับสนุนบางรายโดยเฉพาะภาคการเมืองยังมีเงื่อนไขว่าเอาของไปแจกแล้วให้บอกด้วยว่ามาจากใคร คราวต่อไปถึงจะช่วยสนับสนุนอีก
          “เราเลือกที่จะมองข้ามประเด็นเหล่านั้น เราเปิดรับถุงยังชีพไม่จำกัดค่าย จากใครก็ได้ หากนั่นคือความช่วยเหลือ เป็นสิ่งของและอาหารที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้ สิ่งที่เราสนใจมากกว่าคือการเอาความช่วยเหลือเข้าไปให้ถึงชาวบ้าน”
          เขายังสะท้อนมุมมองว่า ที่ผ่านมางานอาสายังขาดการทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างเป็นระบบ ทำให้บางครั้งการช่วยเหลือซ้ำซ้อนบ้าง ขาดๆเกินๆบ้าง
          “ถึงจะเป็นระบบที่แย่ แต่ถ้าเราทำดี พยายามเป็นส่วนดีในระบบที่แย่ ผมว่ามันดีกว่าจะมัวนั่งรอให้ระบบดีก่อนแล้วค่อยลงมือทำ เพราะน้ำกับความเดือดร้อนไม่เคยรอใคร...”
          ประเด็นต่อจากนี้ที่อยากมองร่วมกันไปข้างหน้าหลังเหตุการณ์
ครั้งนี้ คือ การปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยของสังคม การสร้างคนให้มีสปิริต มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน มากกว่าการมุ่งไปที่การสร้างสิ่งก่อสร้าง
          ประสบการณ์นักเดินป่า มองว่า สิ่งที่คนกรุงกำลังเจอ คือน้ำป่าในเมือง ซึ่งทักษะของคนกรุงเทพฯ ในการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ หรือช่วยเหลือตัวเองมีน้อยมาก
          “ผมเห็นจุดอ่อนของคนที่อยู่กับเทคโนโลยีมากๆ ซึ่งปัญหาใหญ่อาจไม่ใช่ความรุนแรงของภัยพิบัติ แต่คือการปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน เอาแค่ขาดไฟฟ้า ประปา ขาดการสื่อสารโทรศัพท์มือถือก็แย่แล้ว
          สิ่งที่ต้องยอมรับ คือเราจะต้องอยู่กับน้ำท่วมแบบนี้ แต่อย่าไปกลัวกับสิ่งที่เห็น ตอนนี้ทุกคนกลัวไปหมด การมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางภัยพิบัติ ต้องมีทักษะในการดำรงชีพ อย่างน้อยก็ควรฝึกการหุงข้าว ต้มน้ำ วิธีทำน้ำสะอาดที่อาจใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเม็ดมะรุม การแพ็คถุงยังชีพส่วนตัวไว้ มีอุปกรณ์ให้แสงสว่าง มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เชือก ยา ควรจะมีอาหารแห้งอย่างน้อย 1-2 เดือน นี่แหละโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะได้บทเรียนของการใช้ชีวิต ไม่ต้องซ้อมเลย คุณได้เจอของจริงแล้ว” ทาร์ซานบอยให้คำแนะนำ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้ทีมกู้ภัยชุดใหม่ที่มีพี่ชายเข้ามานำทีมแทนได้ไม่กีวัน ส่วนตัวเขาขอถอยกลับไปตั้งหลักที่นครศรีธรรมราช ซึ่งยังไม่แน่ว่าภาคใต้จะมีเหตุการณ์ให้ได้ออกแรงกู้ภัยส่งท้ายปีหรือไม่
          จากจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มอาสาไม่กี่คน ไม่มีอุปกรณ์ และไม่มีเงิน ถึงวันนี้ กลุ่มนักเดินป่าอาสากู้ภัยขยายเครือข่ายแนวร่วมหลากหลายอาชีพ ทั้งนักเดินป่า และไม่ใช่นักเดินป่า ยังมีผู้หญิงที่เข้ามาลุยอาสาทำงานไม่แพ้ผู้ชาย บางคนเป็นเจ้าของธุรกิจ พนักงานบริษัท พนักงานราชการ เว้นวรรคงานประจำมาช่วย แม้ว่าตัวเองจะเป็นผู้ประสบภัยในครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน บางคนอยู่ไกลต่างจังหวัด ลางานมาเป็นอาสาก็มี           ล่าสุด ยังเริ่มขยายภารกิจโดยทำงานร่วมกับทหารมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีหน้าที่กู้ภัยเคสฉุกเฉินเล็ก ๆ ที่ทหารไม่สะดวกเข้าไป เช่น อพยพคนป่วย หรือกู้ชีวิต โดยทหารช่วยสนับสนุนด้านพาหนะ ในพื้นที่ทวีวัฒนา ซึ่งมีนักเดินป่า ทหารและเขต ทำงานร่วมกัน
          เป้าหมายหลักของการรวมกลุ่มอาสานักเดินป่ากู้ภัย คือการช่วยเหลือชาวบ้านในภาวะฉุกเฉิน และเป้าหมายในอนาคต คือการดำรงสถานะกลุ่มไว้สำหรับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีฐานทัพส่วนตัวเล็กๆ เป็นกองกลางอุปกรณ์พื้นฐานการกู้ภัย ทาร์ซานบอย บอกอย่างเรียบๆ ง่ายๆ ว่า
          คอนเซ็ปต์เราเหมือนแบตแมน ถึงเวลาภัยมา ก็รวมตัวกันไปช่วย ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราคือใคร”

                   ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ: , , ,

1 ความคิดเห็น:

เวลา 30 มกราคม 2564 เวลา 22:43 , Blogger กิ่งไผ่ กล่าวว่า...

ขออนุญาตนำไปลงเป็นบันทึกในกลุ่มนักเดินป่าอาสากู้ภัยนะครับ
ขอบพระคุณมากครับ

 

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก