วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รถอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)..มาหาท่าน

รถอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)..มาหาท่าน

         เรื่อง .. ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง 
          ผลิตอาหารปรุงสุกให้ได้วันละ 1 แสนชุด ถือเป็นเป้าหมายการผลิตอาหารมากที่สุดครั้งประวัติการณ์ ซึ่งมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ระดมสรรพกำลังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งต่ออาหารถึงยังผู้ประสบภัย

          ในภาวะที่อาหารปรุงสุกยังมีความต้องการและขาดแคลน ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่คาดว่าจะยาวนานนับเดือน
          ข้อจำกัดของการทำอาหารเพื่อผู้ประสบภัยคราวละมากๆ คือ การหุงข้าว โดยทั่วไปแค่วันละ 3 พันชุดก็ถือเป็นงานใหญ่แล้ว แต่ด้วยวิธีการหุงข้าวแบบใหม่ และความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ขณะนี้สามารถทำอาหารได้แล้ววันละ 2 หมื่นชุด และมีเป้าหมายจะทำให้ถึงวันละ 1 แสนชุด รศ.ดร.นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ให้ข้อมูลในวันเปิดตัว โครงการ รถอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ)..มาหาท่าน และโครงการที่พักพิงฟื้นฟูจิตใจ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดโครงการ โดยทรงโบกธงปล่อยขบวนรถซึ่งประกอบด้วยรถครัว รถบันเทิงสันทนาการเต็มรูปแบบ รถขบวนสิ่งของ พร้อมทรงนำขบวนไปยังชุมทางบนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ และเสด็จไปยังศูนย์พักพิงสนามราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก เพื่อทรงเยี่ยมผู้ประสบภัย
          ทั้ง 2 โครงการที่เปิดตัวครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งมิติใหม่ในการบรรเทาทุกข์ เริ่มจากนำร่องระบบกระจายอาหารเพื่อเข้าถึงผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง โดยตั้งชุมทางรถอาหารพร้อมหน่วยแพทย์อาสาอยู่บนทางด่วนโทลล์เวย์ เพื่อกระจายสิ่งของและความช่วยเหลือผ่านทางรถและเรือ ส่งต่อไปยังสถานีย่อยต่างๆ ในพื้นที่น้ำท่วมทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ เช่น ย่านรังสิต ปทุมธานี ลำลูกกา ดอนเมือง สายไหม
          ปัญหาใหญ่คือการกระจายอาหารจำนวนมากๆ ให้ทั่วถึง ผู้ประสบภัยบางคนออกมารอแต่เช้าแต่กว่าอาหารจะไปถึงบางทีก็เย็น ระบบรถส่งอาหารกระจายไปตามสถานีย่อยเป็นรูปแบบใหม่ที่เรานำมาใช้ โดยจะมีเวลานัดหมายตามแต่ละสถานี มีเต็นท์และแคร่ให้นั่งรอ ระหว่างนั้นยังมีการสอนวิธีทำน้ำดื่มใช้เอง โดยสถานีส่งของของเราครอบคลุม 3 ระดับทั้งที่อยู่ติดถนนใหญ่ และที่ลึกไปในชุมชนจะมีผู้นำชุมชนเป็นตัวแทน ส่วนพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงยากจะมีบรรดาอาสาสมัครกู้ภัยเข้ามาช่วยลำเลียง รองประธานมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) กล่าว พร้อมเชิญชวนผู้มีจิตอาสาที่มีความพร้อมด้านรถหรือเรือ เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ติดต่อได้ที่โทร.0 2256 4427 หรืออีเมล pichitsv@gmail.com
          ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า แต่ละวันที่โรงครัวมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) บริเวณด้านข้างศาลาพระเกี้ยวจะมีอาสาสมัครทั้งอาจารย์ นิสิตนักศึกษา รวมทั้งแม่ค้า ตื่นตั้งแต่ตีสองมาช่วยกันหุงข้าว ทำกับข้าว กว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละวันในช่วงหัวค่ำ โดยนำเทคโนโลยีตู้นึ่งหุงข้าวจำนวน 7 ตู้เข้ามาช่วยร่นระยะเวลาหุงข้าวให้สุกเร็วขึ้น รวมทั้งใช้เทคนิคเติมน้ำส้มสายชูเพื่อช่วยในการเก็บรักษาได้นานถึง 3 วัน
          ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้เกิดการผนึกกำลังส่งต่อความช่วยเหลือโดยไม่มีสี ไม่มีค่าย เพราะการช่วยเหลือครั้งนี้ยากเกินกว่าที่ใครจะทำเพียงคนเดียว ในพื้นที่น้ำท่วมต่างจังหวัดยังมีชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ปัญหาการจัดการอาหารจึงไม่เท่ากับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสังคมแบบเมืองต่างคนต่างอยู่ ขณะที่ยังขาดกระบวนการจัดการแบบเป็นระบบเท่าที่ควร ชาลอต โทณวณิก ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองภาคเอกชน โดยนอกจากโครงการรถอาหารแล้ว ในส่วนภาคเอกชนยังช่วยกันเข้ามาเติมเต็มโครงการที่พักพิง ฟื้นฟูดูแลจิตใจ เพราะนอกจากที่พักและอาหารประทังชีวิตแล้ว สิ่งสำคัญที่สุด คือ ด้านจิตใจ
          โครงการนี้จึงเน้นสร้างกำลังใจผ่านคาราวานรถประกอบอาหารกับรถสันทนาการเคลื่อนที่ เริ่มจากจุดแรกที่ศูนย์พักพิงสนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยมีศิลปินนักร้องชื่อดัง เช่น ตูน บอดี้แสลม, เจนนิเฟอร์ คิ้ม, โก้ มิสเตอร์แซกแมน, โจ นูโว, กบ ทรงสิทธิ์ ฯลฯ มาร่วมให้ความบันเทิง โดยสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเวทีมินิคอนเสิร์ต คาราโอเกะ เวทีสอนเต้นแอโรบิก เคลื่อนเป็นคาราวานไปพร้อมกับรถประกอบอาหารสดซึ่งสามารถปรุงอาหารเลี้ยงผู้ประสบภัยได้ประมาณ 2 พันคน หมุนเวียนไปยังพื้นที่ต่างๆ--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ป้ายกำกับ: ,

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก