วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ลูกไม้ใต้ต้น...บนเส้นทางสาย ‘ไหม’ ปิยวรา ทีขะระ

          ถือเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นอีกหนึ่งคน สำหรับสาวรุ่นใหม่นักอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ไหม-ปิยวรา ทีขะระ บุตรสาวคนเดียวของ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ และ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ถือเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นอีกหนึ่งคน สำหรับสาวรุ่นใหม่นักอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ไหม-ปิยวรา ทีขะระ บุตรสาวคนเดียวของ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ และ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ พล.อ.อ.รังสรรค์ ทีขะระ อดีตรองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบัน สาวไหมวัย 28 ปี รับบทบาทสำคัญเป็นหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้า ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์อนุรักษ์ผ้าระดับสากล ซึ่งเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้
          พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แห่งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทยและผ้าไทย ทั้งยังเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดแสดงงานหัตถศิลป์จากผ้าอันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่างๆ           ปิยวรา เริ่มเข้ามาทำงานเต็มตัวตั้งแต่ช่วงปี 2551-2552 โดยตั้งแต่ช่วงที่ไปเรียนต่อ ได้รับพระราชทานทุนจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เธอเล่าว่า ทราบมาก่อนแล้วว่าจะต้องกลับมาทำพิพิธภัณฑ์ผ้า เลยเลือกเรียนสาขาที่ตัวเองสนใจและสามารถช่วยงานของพิพิธภัณฑ์ได้ หลังจากเรียนจบประวัติศาสตร์ศิลปะ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ความสนใจด้านเสื้อผ้าและการแต่งกาย ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนต่อปริญญาโท ด้าน Visual Culture : Costume Studies ที่ มหาวิทยาลัย New York University ก่อนกลับมาทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าในขณะนั้น
          ภายหลังการจากไปอย่างกะทันหันของอาจารย์สมิทธิ จึงรับไม้ต่อเข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักอย่างเต็มตัว รับเป็นบทบาทเป็นหัวหน้าโครงการทำงานร่วมกับทีมงานคนรุ่นใหม่กว่าสิบชีวิต
          เริ่มตั้งแต่การเดินทางลงพื้นที่ต่างจังหวัด การหาองค์ความรู้เพื่อนำมาร้อยเรียงเรื่องราวสู่พิพิธภัณฑ์ผ่านทั้งหนังสือที่ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านได้บันทึกไว้ การเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใหญ่ในกองราชเลขาฯ ที่ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ช่วงปีพุทธศักราช 2500 รวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆบรรดาสมาชิกโครงการศิลปาชีพซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
          "งานของเราคือการเก็บข้อมูล พยายามผูกเรื่องราวเรื่องผ้ากับพระราชกรณียกิจให้ออกมาเป็นนิทรรศการ นอกจากนี้ คือต้องออกพื้นที่ไปสัมผัสกับชาวบ้าน ใช้เวลาคลุกคลีทำความรู้จักกับเขาจริงๆ บางทีไปอยู่ยาวทีละสองอาทิตย์ ไปกินนอนกับเขา แต่ละที่ต้องลงพื้นที่ไปหลายครั้ง จนรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกศิลปาชีพต่างๆ ทั่วประเทศ ไปอยู่เหมือนลูกหลานเขา นอนบ้านเขา"
          หากถามถึงความประทับใจของการเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่ประโยค แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกไม้ใต้ต้นเล่าให้ฟัง คือ ความภูมิใจที่ฉายผ่านรอยยิ้มและแววตาของลูกสาวเมื่อเล่าถึงคุณแม่ซึ่งถือเป็น "เวิร์คกิ้งมัม" กับภาพที่เห็นคุณแม่ทุ่มเททำงานมาตั้งแต่จำความได้
          ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ (สกุลเดิม "อุรัสยะนันท์") เป็นบุตรีอดีตประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย จาด อุรัสยะนันท์ และ ท่านผู้หญิงเจือทอง อุรัสยะนันท์ เริ่มทำงานที่กองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยถวายงานและตามเสด็จ มาตั้งแต่ปี 2515 และเป็นผู้ช่วย ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อดีตราชเลขานุการใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเดินทางสำรวจผ้าไหมมัดหมี่ในภาคอีสาน จนเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปัจจุบัน
          "ต้องเรียกว่าคุณแม่ทำงานก่อนที่จะมีไหมอีก หลังจากแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ยังทำงานอยู่จนถึงปัจจุบัน สมัยที่คุณแม่ตั้งท้องไหม 9 เดือนแล้ว ก่อนจะคลอดก็ยังไปเคลียร์งานอยู่เลยค่ะ (หัวเราะ)" ไหม เล่าว่า แม้แต่ชื่อเล่นที่คุณแม่ตั้งให้ว่า "ไหม" ก็เกี่ยวข้องจากความผูกพันที่คุณแม่ทำงานด้านผ้าไหมมาตั้งแต่ก่อนจะมีลูกสาวตัวน้อยๆ เป็นแก้วตาดวงใจ
          ทายาทคนเดียวของท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ เผยความรู้สึกให้ฟังว่า สมัยวัยเด็กยังไม่เดียงสา เคยน้อยใจว่าทำไมคุณแม่ไม่ค่อยอยู่บ้าน หายไปทำงานต่างจังหวัดทีละเป็นเดือนๆ เมื่อโตขึ้นรู้ความมากขึ้นถึงเข้าใจงานที่แม่ทุ่มเท
          "สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จออกเยี่ยมราษฎรแต่ละภาคใช้เวลานานเป็นเดือน กว่าจะครบแต่ละหมู่บ้าน เวลาคุณแม่ไปทำงานต้องตามเสด็จ บางครั้งเรายังเด็ก เคยน้อยใจว่าทำไมคุณแม่ไม่อยู่ด้วยกัน อย่างช่วงวันเกิดคุณแม่ก็ต้องไปทำงานที่อีสานไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่เมื่อโตขึ้น ได้เข้าใจมากขึ้น ยิ่งตอนนี้ได้ไปลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ได้ไปคุยกับคุณป้าคุณน้าหลายคนในอีสาน ทำให้ได้เข้าใจในสิ่งที่แม่ทำว่าเพราะอะไรเขาถึงทุ่มเท ถึงวันนี้รู้สึกภูมิใจที่คุณแม่ได้ทำงานถวาย และภูมิใจที่เราได้มีส่วนร่วมทำงานถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้วย...
          ภาพที่จำได้ตั้งแต่เด็กๆ คือ คุณแม่เป็นคนทำงานหนักมาก ตื่นแต่เช้าอุ้มเราขึ้นรถ ขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนเอง ไปทำงานจนถึงทุ่มสองทุ่ม พอเริ่มโตขึ้นเราได้เข้าใจว่าคุณแม่ทำงานถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นะ ซึ่งพระองค์ท่านทรงงานเพื่อราษฎร เวลาได้เห็นคุณแม่ในทีวี เราก็พลอยรู้สึกภูมิใจไปด้วย"           หลังความทุ่มเทของคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งใช้เวลาเริ่มต้นโครงการมาถึงวันนี้ผ่านมา 8 ปี นับตั้งแต่การปรับปรุงหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง สำหรับใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยใช้เวลาในการบูรณะปรับปรุงอาคาร 6 ปีและจัดเตรียมเนื้อหานิทรรศการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อีก 2 ปี ปลายปีนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมแล้วที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ห้อง ด้วยกัน
          ห้องจัดแสดงที่ 1 จัดแสดงฉลองพระองค์ในชุดสากลใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงในวาระสำคัญต่างๆ ห้องจัดแสดงที่ 2 จัดแสดงฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม กว่า 30 องค์ รวมถึงฉลองพระองค์และผ้าโบราณในราชสำนัก และ ห้องจัดแสดงที่ 3 จัดแสดงพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
          "ผ้าที่นำมาจัดแสดงบางส่วนเป็นผ้าโบราณจากฝ่ายใน จากที่เคยเก็บไว้ในคลัง บางส่วนถือเป็นโอกาสที่จะนำมาจัดแสดงให้คนทั่วไปได้มีโอกาสชื่นชม เช่น ผ้ายกของเจ้านายสมัยก่อน ผ้าทรงสะพัก หากเราย้อนศึกษาเรื่องราวผ่านผืนผ้าเหล่านี้ จะได้เห็นทั้งวัฒนธรรม อารยธรรมผ่านเครื่องแต่งกายต่างๆ สิ่งหนึ่งที่รู้สึกภูมิใจ เวลาที่เราไปดูพิพิธภัณฑ์ผ้าในต่างประเทศ ผ้าเหล่านั้นมักจะไม่มีอยู่จริงในโลกภายนอก เป็นภูมิปัญญาที่สูญหาย ไม่มีใครทำอีกแล้ว แต่ในเมืองไทย เรายังมีชาวบ้านที่ยังช่วยกันรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ให้คงไว้ ซึ่งหาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ได้ทรงเห็นการณ์ไกลว่าควรอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ไว้ และทรงช่วยสร้างให้เป็นอาชีพ วันนี้ภาพในอดีตก็อาจจะไม่มีให้เห็นอย่างเช่นในปัจจุบัน" ปิยวรา บอกเช่นนั้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก