วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดาวูดี โบห์รา แขกตึกขาว..กับตำนานพ่อค้าอินเดีย


          เรื่อง : ดุลยปวีณ กรณฑ์แสง           ตามรอยวิถี แขกตึกขาว เจ้าของตำนานบ้านอับดุลราฮิม ห้างไนติงเกล ห้างขายผ้ามัสคาตี ฯลฯ การเดินทางของพ่อค้าอินเดียโพ้นทะเล เชื้อสายมุสลิมดาวูดี โบห์ราที่สร้างตำนานเสื่อผืนหมอนใบเดินทางปักธงค้าขายทั่วทุกมุมโลก  
     - 1 -
          เรือข้ามฟากเคลื่อนตัวช้าๆ มุ่งหน้าสู่ฝั่งราชวงศ์ ภาพมัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่ซ่อนตัวอยู่ใน ดงไม้ใกล้ท่าดินแดง ค่อยๆ ไกลออกไปสุดสายตา เช่นเดียวกับเรื่องราวของ “แขกตึกขาว” พ่อค้ามุสลิมชาวอินเดียที่จางหายไปกับเงาอดีตของตลาดมิ่งเมือง และย่านเก่าพาหุรัด หาก “ดาวูดี โบห์รา” รุ่นหลังนำโดย ระบิล พรพัฒน์กุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของ ตระกูลโตฟาฟรอส ไม่ได้สืบทอดประวัติศาสตร์เหล่านี้สู่สังคมภายนอก ในงานเสวนาแขกตึกขาวกับเรื่องราวการค้าในสยาม ร่วมกับมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า
          หลายคนรู้จักแต่ชื่อตึกอับดุลราฮิมที่ตั้งตระหง่านย่านพระราม 4 รู้จักห้างไนติงเกล โอลิมปิค ห้าง เก่าแก่คลาสสิคตรงข้ามดิโอลด์สยาม แต่น้อยคนที่จะรู้จักเรื่องราวความเป็นมาของตระกูลพ่อค้าอินเดียเก่าแก่กลุ่มมุสลิมเชื้อสายดาวูดี โบราห์ ที่เข้ามา ตั้งรกรากขยายเครือข่ายการค้าในไทยมากว่า 100 ปี
          “คำว่า ‘โบห์รา’ มาจากภาษากุจราต แปลว่าพ่อค้า พวกเราเป็นเชื้อสายพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ต่างจากพ่อค้าจีน ปัจจุบันมีมุสลิมดาวูดีโบห์ราทั่วโลกกระจายอยู่นับล้านคน ในกว่า 40 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นใน อินเดีย ซึ่งเป็น เมืองศูนย์กลาง ปากีสถาน เยเมน ซีเรีย อิรัค ซาอุดิอารเบีย ดูไบ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อียิปต์ แอฟริกาใต้ ไทย พม่า มาเลเซีย ฮ่องกง จีน และแทบทุกเมืองสำคัญของโลก” ระบิลหนุ่มเชื้อสายดาวูดีโบห์รา วัย 52 ปี ลำดับเรื่องราวความเป็นมาของบรรพบุรุษที่ใช้เวลาสืบค้นมานานกว่า 20 ปี ผ่านการปะติดปะต่อคำบอกเล่า เอกสาร ภาพถ่ายเก่าๆ ในอดีต ป้ายหินหน้าหลุมฟังศพ ฯลฯ
          เล่าสืบต่อกันมาว่าพ่อค้ามุสลิมอินเดีย เริ่ม เดินทางเข้ามาทำการค้าในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ราวๆ ต้นพ.ศ.2400 โดยตั้งบ้านเรือน อาศัยอยู่บริเวณย่านราชวงศ์ เยาวราช พาหุรัด ในฝั่งกรุงเทพฯ และบริเวณหลังวัดอนงคาราม ในฝั่งธนบุรี โดยอาจแบ่งชาวอินเดียในย่านนี้ได้เป็นสองพวก คือ ย่านตึกแดง และย่านตึกขาว โดยย่านตึกแดงเป็นพวกชาวอินเดียที่ส่วนมากมาจาก ตำบลแรนเดอร์ ซึ่งเป็นพวกมุสลิมสายสุหนี่ (ซุนนีย์) ที่เป็นพวกต้นตระกูลนานา และตระกูลอื่นๆ
          ส่วนย่านตึกขาวนั้น เป็นพวกมุสลิมสายชีอะห์ เรียกพวกตนเองว่า “มุอ์มิน ดาวูดีโบห์รา” ส่วนมากมาจากรัฐกุจราต ทางตะวันตกของอินเดีย ทั้งจากเมืองสุรัต ซิ๊ดปุร แคมบ๊าต อะห์เมดาบ๊าด โดรายี โดยปรากฎหลักฐานเก่าแก่จากภาพแขกสะระบั่นทองที่ผนังวัดปทุมวนาราม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
          พ่อค้าโบห์ราจากอินเดียเหล่านี้มีทั้งการนำเข้า ผ้าแพรภัณฑ์ เครื่องประดับ ดิ้นเงินดิ้นทองนำเข้าจากต่างประเทศ เครื่องเงิน เพชรพลอย ค้าเครื่องเทศ สมุนไพร เครื่องหอม น้ำอบ ซึ่งส่วนมากจะตั้ง ร้านค้าอยู่ในบริเวณถนน เจริญกรุง พาหุรัด และตลาดมิ่งเมือง ถนนจักรเพชร อนุวงศ์ วัดเกาะ
          “สมัยก่อนย่านพาหุรัด จากหัวมุมเลี้ยงลงมาเรื่อยๆ จะเป็นร้านของดาวูดีโบราห์ทั้งนั้น ย่านเก่า ของพวกดาวูดีจะอยู่แถวๆ เฉลิมกรุง ตรงข้ามตลาดมิ่งเมือง แต่ปัจจุบันได้โยกย้ายเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว”          หลายตระกูลพ่อค้าที่สำคัญๆ เช่น ห้าง อับดุลราฮิม เป็นผู้นำเข้าสินค้าให้กับเจ้านาย ต้นตระกูลคือ ฮะซัน อาลี อับดุลราฮิม (เอช อับดุลราฮิม) และภรรยา-นางเชย เจ้าของบ้านอับดุลราฮิม ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับตึกอับดุลราฮิมในปัจจุบัน
          “ในอดีต บ้านศาลาแดงของ เอช อัลดุลราฮิม เป็นที่ชุมนุมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ที่ไม่ใช่ด้านศาสนกิจ ปัจจุบันมีทายาทไม่กี่คน และได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”          นอกจากห้างอับดุลราฮิมแล้ว ยังมีร้านโมกุล ร้านค้าเครื่องเงินบริเวณ สี่กั๊กพระยาศรี จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเงินแท้ ราคาสูงคุณภาพดี สำหรับเจ้านายและบุคคลชั้นสูง
          ส่วนตระกูลโตฟาฟรอส และกีลิตวาลา ค้าขายเครื่องเทศ หม้อและภาชนะ, ห้างวาสีค้าเครื่องเงิน, มัสกาตีค้า ผ้านำเข้า, กาติ๊บ ค้าเครื่องเขียนและมีด, ห้างขายยาบอมใบ ค้าขายสบู่ยา และปัจจุบันหันมาจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์, กลุ่ม ไนติงเกล โอลิมปิคส์ ค้าขายเครื่องกีฬา เป็นต้น
          ส่วนธุรกิจที่พ่อค้าอินเดียโบราห์เข้ามาทำธุรกิจมากที่สุด คือ ร้านขายลูกปัด เครื่องประดับและแพรพรรณในย่านพาหุรัด เปิดร้านติดๆ กัน ได้แก่ นัญจมีสโตร์, แคมเบย์สโตร์ (คัมบ๊าดวาลา), โมตีวาลา, อี เอช บัดรุดดิน, โมฮัมมัด (กัลกัตตาวาลา) ดาวูดี สโตร์, ไตเย็บใหม่ เป็นต้น พ่อค้ากลุ่มนี้ แม้จะค้าขายแบบเดียวกัน แข่งขันกันแต่ไม่ได้มองว่าเป็นศัตรูการค้า แต่มองว่าเป็นการร่วมกันค้าขาย เปิดหลายๆ ร้านเพื่อสร้างตลาดให้คึกคัก หลายครอบครัวยังสนิทสนมและลูกหลานแต่งงานกัน
          นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายเครื่องเขียน ร้าน โมฮัมมัด ของพวกโมรา ร้านทวีทรัพย์ ของพวก นูรใบ (นามสกุลไทย คือ ภิรมย์สวัสดิ์) ร้านสมุนไพรของกลุ่มรัตลามวาลาที่เชียงใหม่ และร้านค้าของพวกฟีดาอาลีที่เพชรบุรี เป็นต้น
          “พ่อค้าอินเดียหลายคนเข้ามาเมืองไทยแบบเสื่อผืนหมอนใบเช่นเดียวกันกับพ่อค้าจีน โดยได้รับความช่วยเหลือให้ที่อยู่ที่กินจากคนที่เข้ามาอยู่ก่อน ช่วยเหลือเจือจุนในกลุ่มมุสลิมด้วยกัน”          - 2 -
          นอกจากความโดดเด่นของการเป็นสายเลือดพ่อค้านักเดินทาง ความเชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ การกำหนดปฏิทินตามการเคลื่อนตัวของดวงดาว มุสลิมดาวูดีโบห์รา ยังเป็นมุสลิมที่เคร่งศาสนา ด้วยเอกลักษณ์การแต่งกาย ชายในชุดขาวพร้อมหมวกขลิบทอง ส่วนสตรีมีรีดาคลุมศีรษะ รวมถึงเอกลักษณ์ของภาษาเฉพาะของตนเองที่เรียกว่า ภาษาดาวัต และวิถีการกินแบบดาวูดีโบห์รา
          “พวกเราเป็นมุสลิมที่ปฏิบัติศาสนกิจค่อนข้างเคร่ง ไปมัสยิดกันเฉลี่ยปีหนึ่งประมาณ 150 -200 วัน เรียกว่าไปสุเหร่าทุกๆ สองวัน” ระบิลบอกเช่นนั้น
          มัสยิดเซฟี หรือตึกขาว มัสยิดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ย่านธนบุรี ริมฝั่งเจ้าพระยา ตรงข้ามท่า ราชวงศ์ จึงถือเป็นศูนย์รวมชีวิตของชาวดาวูดีโบห์รา แม้ว่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่กระจัดกระจาย แต่เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาจะนัดมารวมตัวกันที่นี่
          จุดเริ่มต้นของการก่อสร้างมัสยิด เริ่มขึ้นจาก ริเริ่มของ กากายี ซายาอุดดิน โมฮัมมัด อาลี พ่อค้า เพชรพลอยที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับเจ้านายใน สมัยนั้น ติดต่อขอซื้อที่ดินบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามท่าราชวงศ์ ด้านฝั่งธนบุรีจากเจ้าพระยา- รัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) โดยก่อสร้างมัสยิดเสร็จในปี 2453
          คำว่าเซฟี ซึ่งเป็นชื่อตั้งมัสยิด หมายถึงดาบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ ดาวูดีโบห์รา ส่วนตัวมัสยิดไม่ได้เป็นสีขาว แต่เรียกชื่อตึกขาวตามสีของอาคารในย่านนี้ ซึ่งทาสีขาวเป็นส่วนใหญ่ ตัวมัสยิดออกแบบเป็นอาคารสี่เหลี่ยม ครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างจากศิลปะและรูปแบบจากอินเดีย โดยช่างก่อสร้างชาวจีนยุคเดียวกับพระที่นั่งอนันตสมาคม
          “เดิมเราใช้การสัญจรทางเรือเพื่อมาที่มัสยิดเซฟี ต่อมาสมัยหนึ่งขยับขยายไปเช่าพื้นที่ทำเป็น สุเหร่าเล็กๆ สุเหร่าบ้านหม้อบนพื้นที่เช่าแถวตลาดมิ่งเมืองเพื่อความสะดวก ซึ่งต่อมาพื้นที่แถวนั้นกลายเป็นดิโอลด์สยาม หลังจากรื้อตลาดมิ่งเมือง ปัจจุบันมัสยิดตึกขาวจึงเป็นศูนย์กลางทำศาสนกิจเพียงแห่งเดียวของมุสลิมดาวูดีโบห์รา”          - 3 -
          ปัจจุบัน ระบิลเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล โตฟาฟรอส ซึ่งถือเป็นตระกูลใหญ่ที่สุดในมัสยิดเซฟี สมาชิกในตระกูลมีประมาณร้อยกว่าคน บรรดาทายาทส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดร้านค้าแล้ว โดยการ ปิดตำนานตลาดมิ่งเมือง ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของย่านการค้าของดาวูดีโบห์ราที่เคยเฟื่องฟูในอดีต
          “สมัยก่อนย่านดาวูดีโบห์ราจะอยู่แถวเฉลิมกรุง ย่านพาหุรัด และแถวตลาดมิ่งเมืองเก่า สุเหร่า และอาหารการกินก็จะอยู่แถวนี้ สมัยอายุ 10-15 ปี ผมยังเกิดทันยุคสุเหร่าบ้านหม้อ เลิกงานเสร็จ อาบน้ำ ก็มาละหมาดกัน ยังมีชีวิตอยู่กันตรงนั้นอยู่ ซึ่งจะเห็นตลาดการค้ายุคตลาดมิ่งเมือง แต่เมื่อ ยุคสมัยเปลี่ยน การครอบครองที่ดินเปลี่ยน มุสลิมที่นี่ก็กระจายตัวกันออกไปทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ ย้ายไปอยู่แถวประชาอุทิศกันก็เยอะ แถบนั้น กลายเป็นประชาคมมุสลิมใหม่ ที่นั่นมีมุสลิมอยู่หลากหลายกลุ่ม”
          ขณะที่รูปแบบการค้าได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งการมาถึงของห้างสรรพสินค้าไล่มาตั้งแต่ยุคเซ็นทรัลชิดลม ยุคไดมารู จนกระทั่งปัจจุบัน มาถึงยุคดิสเคาน์สโตร์ หลายย่านค้าขายในอดีตกลายเป็นย่านเก่า ทั้งย่านพาหุรัด ย่านบางลำพู รวมไปถึงย่านโบ๊เบ๊ที่กำลังหันเหไปสู่การจัดระเบียบ ในรูปแบบพลาซ่ามากขึ้น
          นอกจากยุคสมัยที่เปลี่ยน ตัวสินค้าก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนประเทศไทยอาศัยของนำเข้าสำหรับของหรูหรา เครื่องประดับลูกปัด ของมีค่าจากต่างประเทศ ปัจจุบันสินค้าหลายอย่างไม่ต้องนำเข้าแล้ว ทำให้บางสินค้าหายไปตามวัฏสงสาร
          “เดี๋ยวนี้พวกเราไม่ได้สืบทอดอาชีพพ่อค้าแล้ว แต่หันเหความสามารถไปสู่การเป็นโปรเฟสชั่นแนล มากขึ้น เปลี่ยนวิถีไปเป็นหมอ พยาบาล ครู อาจารย์ นักบัญชี ที่ปรึกษา ผู้บริหารบริษัทเอกชน และมีหลายคนที่รับราชการ” ระบิลเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านอาชีพใหม่ของทายาทพ่อค้าดาวูดีโบราห์
          “รุ่นผมเรียนจบมา ไม่มีใครอยากสืบทอดมรดกการค้าที่มีอยู่ เราไม่ได้คิดว่าจบมหาวิทยาลัยมาแล้ว จะไปเป็นพนักงานขายของในร้านที่มีคุณพ่อ คุณลุงคุมอยู่ แต่เราอยากออกไปมีโลกของเรา สร้างวิถี ของเรา อย่างผมเรียนจบด้านวิศวกรเคมีก็เติบโตไป ทางด้านโพรเฟสชั่นแนล ...จนกระทั่งวันหนึ่งที่ต้องปิดร้าน เพราะเขาจะรื้อตึกมาทำดิโอลด์สยาม ผมไปขนของออกมีเตียงโบราณอันหนึ่งที่คุณปู่นอนตาย ขนกลับมาไว้ที่บ้าน ตอนนั้นเริ่มสะดุดใจอย่างหนึ่ง ว่าเอ๊ะ! มันไม่สืบทอดเลยหรือ มันหายไปไหน แล้วเนี่ย แล้วเรากำลังจะเป็นอะไร จะเป็นคนที่ไม่มีรากหรือเปล่า วันนี้ถ้าผมไม่สืบค้น ไม่เล่าเรื่องนี้ หลายคนอาจไม่รู้เลยว่าเรื่องราวตลาดพาหุรัด ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นอย่างไร แล้ววันหนึ่งมันก็จะหายไป...
          ผมเกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ สิ่งหนึ่งที่เห็น คือคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีการรวมตัวกันในชุมชนอย่างแท้จริงเลย เป็นชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ มีเพื่อนเยอะแยะที่เรียนด้วยกันตอนเด็กๆ แต่เราไม่มีความสัมพันธ์ ดังนั้นต้องสร้างเครื่องมือให้ความเป็นชุมชนขยาย อย่างเราหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาศึกษาในโอกาสมัสยิดเซฟีครบรอบร้อยปีก็ จุดประกายให้เกิดการเริ่มแบ่งปัน ถ่ายทอดสืบทอดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เลือนหายไปให้ คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อีกครั้ง คำว่าอนุรักษ์ หลายคนตีความคือการรักษาแบบเดิม แต่จริงๆ มันคือ การหยิบคุณค่า คุณใช้ชีวิตอย่างไร มีความคิดอย่างไร มีความเชื่อ มีวิถีอย่างไร” ทายาทดาวูดีโบห์รารุ่นที่ 3 บอกเช่นนั้น
          รู้จักมุสลิมดาวูดีโบห์รา          ความเป็นมาของมุสลิมดาวูดีโบห์ราเป็นชาวมุสลิมที่สืบทอดความเชื่อจากแนวทางของพวกชีอะห์ ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มรากฐานอิสลามจากที่กรุงเมกกะห์และกรุงเมดีนา ในประเทศซาอุดิอารเบีย แต่จากปัญหาการตามล่าช่วงชิงอำนาจการปกครอง ทำให้ต้องอพยพหลบลี้หนีภัยไปทั่วทั้งในแอฟริกาตอนเหนือและประเทศอียิปต์ ก่อกำเนิดเป็นราชวงศ์ฟาติมีที่รุ่งเรือง ต่อมาก็เคลื่อนไปที่ประเทศเยเมน และท้ายที่สุดก็ย้ายรากฐานมาที่ประเทศอินเดียตราบจนถึงปัจจุบัน โดยมีศูนย์กลางอยู่ในรัฐกุจราต ทางภาคตะวันตกของอินเดีย
          ชาวมุสลิมดาวูดีโบห์รา มีความเชื่อว่าผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขาสืบทอดจากท่านศาสดามูฮัมมัด โดยเชื่อว่าผู้สืบทอดการนำศาสนาอิสลามต่อคือบรรดาอิหม่ามซึ่งเป็นสายเลือดที่ได้รับมอบหมายสืบต่อมาถึง 21 คน จนถึงคนสุดท้ายคืออิหม่ามไตเย็บ ซึ่งหลบเร้นไม่ปรากฏต่อสังคม ทำให้อิหม่ามที่สืบเชื้อสายตรงไม่ปรากฏต่อสังคมตราบจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นหน้าที่การนำศาสนาจึงตกกับดาอีมุตลัก โดยปัจุบัน ดาอีคนที่ 52 คือ ไซเยดนา โมฮัมมัด บุรฮานุดดิน ปัจจุบันอายุครบ100 ปีแล้ว จึงแต่งตั้งดาอีคนที่ 53 คือไซเยดนา มุฟัดดัร ไซฟุดดิน รอทำหน้าที่ต่อ
          สำหรับในประเทศไทย มีชาวมุสลิมดาวูดีโบห์รา อาศัยอยู่ประมาณ 600 คน โดยอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนมาก นอกนั้นยังมีกระจายอยู่ที่เชียงใหม่เพชรบุรี ยะลา และนราธิวาส มีศูนย์กลางด้านสถานที่ในการประกอบศาสนกิจ อยู่ที่มัสยิดเซฟี เขตคลองสาน และมีสุสานดาวูดีโบห์รา อยู่ที่เชิงสะพานเจริญพาสน์ ถนนเจริญพาสน์ ฝั่งธนบุรี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก