วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ยอดมรดก11ตระกูลดัง

          เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ ต้อนรับต้นปีเมื่อ 11 ตระกูลดังของเมืองไทย พร้อมใจกันนำมรดกล้ำค่าประจำตระกูล ออกมาโชว์ร่วมกันครั้งแรก

ในงานเฉลิมฉลองความสำเร็จ 60 ปี ไทยสมุทรประกันชีวิตมิวเซียมสยาม ท่าเตียน พร้อมร่วมโพสท่าเป็นแบบกิตติมศักดิ์ ในนิทรรศการภาพถ่าย ที่กดชัตเตอร์โดยช่างภาพพอร์ตเทรทคนดัง นิติกร กรัยวิเชียร          หลายตระกูลที่ตอบรับคำเชิญมาร่วมงานนี้สนิทสนมคุ้นเคยกันดีกับคนในครอบครัว 'อัสสกุล' ตระกูลใหญ่ที่เป็นเจ้าของอาณาจักรไทยสมุทรประกันชีวิต โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และอีกสารพัดธุรกิจในเครือโอเชี่ยนกรุ๊ป


          11 ตระกูลที่ร่วมแสดงสมบัติล้ำค่าในงานนี้ มีทั้งศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ กับนาฬิกาพก Patek Philippe มรดกตกทอดจากเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5, ภัทรา ศิลาอ่อน กับมรดกที่ไม่ใช่สิ่งของเครื่องประดับ แต่เป็น 'ใบปริญญาบัตร' เพราะความรู้ และการศึกษาคือ มรดกที่พ่อแม่ให้ความสำคัญ, ยุวดี จิราธิวัฒน์ ที่มี 'คำสอน' จากคุณพ่อ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของตำนานความยิ่งใหญ่ของเซ็นทรัล มอบให้แต่เล็กจนโต          ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กับ 'นาฬิกาโบราณ' เรือนใหญ่ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้กับสมเด็จทวด คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่แผงความหมายถึงพระราชประสงค์ที่ต้องการให้ตั้งนาฬิกาไว้ ณ วังวรดิศเพื่อสอนให้ชาวสยามในสมัยนั้น รู้จักเรื่องความตรงต่อเวลา, ชาย ศรีวิกรม์ กับ'ใบหุ้นของบริษัท' สยามอินเตอร์คอน ที่คุณปู่และคุณพ่อ ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 44 ปีที่แล้วเป็นมรดกที่แสดงถึงโอกาสและความรับผิดชอบของตระกูล
          กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กับโน้ตสุดท้าย ที่คุณแม่เขียนและมอบไว้ให้ก่อนเสียชีวิต, สุภาพรรณ-ณัฐปรี พิชัยณรรงค์สงคราม กับต่างหูที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้กับคุณแม่, กีรติ-วีรวุฒิ-นุสรา อัสสกุล กับแท่นแก้วจารึกคำสอนของพ่อ, วิภาดา โทณวณิก-พิมพ์สิริ ณ สงขลา กับพานแจกันมรดกตกทอดตั้งแต่สมัยเจ้าจอมมารดาเลื่อนในรัชกาลที่ 5          และท่านผู้หญิงวิวรรณ เศรษฐบุตร ภูมิใจใน "ฆ้อนแก้โรว์" ของตระกุลวรรณที่ท่านพ่อ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ คนไทยคนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติ มอบให้ไว้ ฆ้อนนี้จะใช้เคาะ เมื่อจะลงมติในสหประชาชาติ จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการค้ำจุนสันติภาพในโลก
          ส่วนจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ขอนำไม้ตะพดประจำตัวที่คุณปู่ พระยาภิรมย์ภักดี เคยใช้ที่ทุกวันนี้ยังผูกพันอยู่ในใจเสมอ แม้จะเกิดไม่ทันได้พบคุณปู่ก็ตาม นอกจากจะใช้เป็นไม้เท้า ไม้ตะพดยังสามารถเป็นอาวุธได้อีกด้วย มรดกชิ้นนี้ จึงเป็นเรื่องจากลูกชายสู่ลูกชายจากรุ่นสู่รุ่นในตระกูลภิรมย์ภักดี          มรดกสืบทอดประจำแต่ละตระกูลสูงค่าเกินกว่าจะประเมินด้วยตัวเลข เพราะมีความหมายทางใจจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละชิ้นล้วนมีความพิเศษ และหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
          และที่น่าสนใจ คือ หลายๆ ตระกูลมหาเศรษฐี ธุรกิจใหญ่ของเมืองไทย ต่างยกให้ยอดของมรดกล้ำค่าที่สุด คือ คำสอนสั่ง จากผู้อาวุโสที่จากไปแล้ว แต่มอบหลักคิดๆ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานไว้ยึดมั่น
          ไม่ว่าจะเป็น แง่คิดการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจที่เจ้าสัวสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ถ่ายทอดให้กับลูกหลาน ที่รวบรวมไว้อยู่ในหนังสือเล่มโต ที่เรียกได้ว่าเล่มนี้ไม่ต่างหนังสือสามัญประจำตระกูลที่ทุกคนในครอบครัวจิราธิวัฒน์จะต้องมีกันไว้ทุกบ้าน
          "เงินทองเป็นสิ่งที่หาได้ แต่ก็หมดไปได้เช่นกัน แต่คำสอน ถ้าเราพร่ำสอนลูกหลานเสมอ และถือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง คำสอนนี้ ก็จะติดตัวไปกับพวกเราตลอดไป" ยุวดี จิราธิวัฒน์ เจ้าแม่เซ็นทรัลชิดลม ถ่ายทอดมุมมองเอาไว้เช่นนั้น          เช่นเดียวกับอีกสมบัติชิ้นสำคัญที่กินใจจนมครเห็นอาจต้องน้ำตาซึม เพราะเป็นมรดกกระดาษโน้ตใบเล็กๆ ของสมาชิกครอบครัวสุริยสัตย์ ที่ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เลือกมาจัดแสดง
          เพราะบนหัวกระดาษเขียนด้วยลายมือว่า Last Note ! เป็นโน้ตที่ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ พยายามจับปากกานั่งเขียนริมหน้าต่างในโรงพยาบาล กลั่นความคิดที่มีอยู่ในช่วงใกล้ถึงวาระสุดท้าย ด้วยคำสอนที่เน้นถึง "ความรักและความสามัคคีที่มีต่อกัน ไม่ทอดทิ้งกัน"          ปิดท้ายกันด้วยไฮไลต์มรดกตระกูลสำคัญของงาน ซึ่งคงเป็นใครไม่ได้ นั่นคือเจ้าภาพของงานนี้ ที่สามศรีพี่น้องหัวเรือใหญ่ตระกูลอัสสกุล กีรติ-วีรวุฒิ-นุสรา อัสสกุล ร่วมกันถ่ายทอดความผูกพันถึงสมบัติล้ำค่าที่สุด ที่กฤษณ์ อัสสกุล ผู้พ่อที่สร้างความยิ่งใหญ่ของไทยสมุทรประกันชีวิต
          นั่นคือ มรดก "คำสอนของพ่อ" ที่จารึกอยู่บนแท่นแก้ว และบอกเอาไว้ว่า "เหมือนกับลูก เหมือนกับน้อง" มอบไว้เตือนใจให้กับลูกๆ และพนักงานทุกคน
          "คำสอนที่สำคัญของคุณพ่อ ฟังดูง่าย แต่มีความหมายที่ลึกซึ้ง คือ คำว่าให้รักลูกน้องเหมือนลูกและเหมือนน้อง นั่นคือเราจะต้องคิดเป็นห่วงว่าเขาได้รับความรู้ ได้พัฒนาไหม มีความสุขไหม ครอบครัวเขามีปัญหาไหม เรามีทางจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ไหม จากคำสอนเหล่านี้ทำให้พนักงานมีความเป็น Ocean Spirit สูงมาก นั่นคือมีความรักในองค์กร พร้อมจะทุ่มเทให้บริษัทตลอดเวลา ไม่เลือกงาน ไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่" นุสรา อัสสกุล ถ่ายทอดไว้เช่นนั้น
          ยอดแห่งมรดกจึงไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง หากแต่เป็นคำสอนที่จะคงอยู่ในใจไปตราบเท่านาน แม้จะก้าวข้ามผ่านยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลง จากรุ่นสู่รุ่น...และถึงวันนี้จะไม่มีเสียงที่ดังกังวานของ กฤษณ์ อัสสกุล เจ้าตำนานไทยสมุทรประกันชีวิต เหมือนเมื่อครั้งวันวาน แต่ปณิธานของเขาจะยังคงอยู่ และไม่เคยจากไปไหน--จบ--
 ที่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก